รักหลอนในรั้ววัง ตอนที่ 2

37316
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี - พระนางเธอลักษมีลาวัณ กับสุนัข “ย่าเหล”

หลังจากการเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ได้เพียง 1 เดือน 19 วัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงอภิเษกสมรสกับ พระสุจริตสุดา ธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) ในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2464 และทรงตัดสินพระราชหฤทัย “แยกกันอยู่” กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ที่ยังมิทันได้อภิเษกสมรสกัน ต่อมาพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณก็ได้รับโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465 เป็นการปลอบพระทัย และดำรงไว้ซึ่งสัญญาที่จะ “ทรงเลี้ยงให้เที่ยงตรง…” ดังบทกลอนที่พระนางเธอ ได้นิพนธ์ไว้เมื่อครั้งทรงรับหมั้น

Laksamee4
พระนางเธอลักษมีลาวัณ
พระสุจริตสุดา
พระสุจริตสุดา

เมื่อไม่เป็นที่โปรดปรานอีกต่อไป พระนางเธอลักษมีลาวัณ จึงได้แยกพระตำหนักไปประทับอยู่อย่างสันโดษ ที่ตำหนักพร้อมพงศ์ ริมคลองแสนแสบ แม้แต่พี่น้องของท่านเองพระนางก็ไม่ปรารถนาจะสุงสิงด้วยนัก โดยหันไปทุ่มเทกับงานพระนิพนธ์ และการเขียนบทละครร้อง รวมทั้งการรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยของพระบิดา จนล่วงเข้าวัยชรา พระนางเธอลักษมีลาวัณก็ทรงมีพระอารมณ์หงุดหงิดง่ายแปรปรวนไม่คงที่ตามวัย แต่ยังทรงช่างตรัสเล่าเรื่องต่างๆ ประทานแก่ผู้ที่ไปเฝ้าเสมอ ในบางครั้งทรงเล่าถึงเรื่องราวร้ายๆ ที่เข้ามาสู่พระชนม์ชีพ โดยได้ทรงบรรยายไว้เป็นคำกลอนพิมพ์แจกในวันฉลองพระชนมายุครบ 60 พรรษา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ ความว่า

ตัวคนเดียวโดดเดี่ยวอยู่เปล่าเปลี่ยว    ไม่มีบ่าวโจษจันฉันกริ้วแหว
ขืนมีบ่าวเข้ามามันตอแย                 ยั่วยุแหย่ยุ่งขโมยโอยรำคาญ
บ้างเข้ามาทำท่าเป็นบ้างั่ง                เรียกจะสั่งทำใดไม่ขอขาน
สั่งอย่างโง้นอย่างงี้เลี่ยงลี้งาน           ใช่ฉันพาลเป็นดังนี้ทุกวี่วัน
พอไล่มาใหม่อยู่ไม่ช้า                     แรกทำดีเด่นเป็นขยัน
พอใช้เพลินไม่เกินสิบห้าวัน               คนขยันโกงยับเห็นกับตา
เบื่อเต็มทนเบื่อคนสุดทนสู้                เลยยอมอยู่ผู้เดียวเลิกเที่ยวหา
มีคนใช้ประสาทเสียเพลียอุรา              เราว่าข่มเหงเพลงทารุณ……


หลังจากสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง แม้เจ้าพี่เจ้าน้องจะแสดงความห่วงใยอยากให้มาอยู่พร้อมหน้ากันแต่พระนางก็มิทรงนำพา ทรงปลีกตัวมาดำเนินชีวิตอยู่ลำพังปราศจากข้าหลวงหรือมหาดเล็กรับใช้ โดยทำทุกอย่างด้วยตัวพระองค์เอง และใช้เวลาว่างแก้เหงาไปกับการประพันธ์นิยายหลายต่อหลายเรื่องที่ได้รับการตีพิมพ์ อาทิ เรือนใจที่ไร้ค่า ชีวิตหวาม ยั่วรัก รักรังแก สนเท่ห์เสน่หา เป็นต้น ต่อมาพระนางได้ย้ายมาอยู่ที่ วังลักษมีวิลาศ (สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นที่ประทับของพระนางเธอลักษมีลาวัณ มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ตัววังสร้างเป็นบ้านไม้แบบโบราณ รูปแบบสถาปัตยกรรมอังกฤษ)

 พระนางเธอฯ ขณะพระชนมายุ 60 พรรษา
พระนางเธอฯ ขณะพระชนมายุ 60 พรรษา

ที่ประทับอยู่อย่างสันโดษก็ด้วยเหตุไม่เคยต้องพระทัยข้ารับใช้คนใด ใครมาอยู่พักเดียวก็ถูกพระนางไล่ออกไป เป็นเช่นนี้จนไม่มีใครกล้าเข้าหา แต่แล้วในวันที่ 2 กันยายน 2504 เวลา 15:30น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์วรรณ) พระเชษฐาของพระนางเธอฯ ก็ทรงได้รับโทรศัพท์แจ้งจาก นางสาวแน่งน้อย แย้มศิริ นิสิตบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยถวายงานเป็นข้าหลวงในพระนางเธอลักษมีลาวัณ ที่พระตำหนักนี้มาก่อนแจ้งว่า น่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในพระตำหนัก เนื่องจากเธอไปกดกริ่งเรียกหลายครั้ง และโทรศัพท์เข้าไปแต่กลับไม่มีผู้รับสาย

เมื่อพระองค์วรรณ ทรงทราบจึงเสด็จมายังพระตำหนักลักษมีวิลาศ ตรงสี่แยกพญาไท ปรากฏว่าบนพระตำหนักเงียบวังเวงปราศจากผู้คนอาศัยอยู่ ด้วยความร้อนพระทัยจึงได้เสด็จขึ้นไปชั้นบนพระตำหนักเพื่อตามหาพระนางเธอฯ พระขนิษฐา(น้องสาว) ท่านทรงพระวิตกว่าพระนางเธอฯ จะได้รับอันตราย จึงทรงตรวจค้นห้องพระบรรทม พบเครื่องฉลองพระองค์และพระราชทรัพย์ถูกรื้อกระจาย จึงเสด็จลงมาตรวจบริเวณพระตำหนักอย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมเปล่งพระสุรเสียงเรียกพระนางเธอฯ ตลอดเวลา แต่ก็ไม่มีเสียงขานรับอย่างใด

เมื่อไม่ทรงพบใครอยู่ภายในพระหนักแต่กลับได้กลิ่นเหม็นเน่าโชยมา จึงเสด็จดำเนินตามกลิ่นไปถึงโรงรถบริเวณหลังพระตำหนัก ต้องถึงกับทรงตะลึงเมื่อพบพระศพของพระนางเธอในสภาพเน่าอืดแล้ว จึงทรงแจ้งนายร้อยเวรสถานีตำรวจพญาไท มาชันสูตรพระศพโดยด่วน

เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชำนาญได้เริ่มลงมือชันสูตรพระศพซึ่งเริ่มส่งกลิ่น พบว่าที่พระวรกายบริเวณพระอุระมีบาดแผลฉกรรจ์คล้ายถูกแทงอย่างโหดเหี้ยมถึง 4 แผล ที่พระศออีกแผลหนึ่ง และที่พระเศียรด้านหลังนั้นถูกตีจนน่วมมีพระโลหิตไหลนองพื้น เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าสิ้นพระชนม์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 วัน แล้วจึงส่งพระศพไปยังแผนกนิติเวชเพื่อชันสูตรอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ตรวจหาร่องรอยภายในพระตำหนักอย่างละเอียด พบกรรไกรเปื้อนคราบโลหิตตกอยู่กลางห้องพระบรรทม เงินส่วนพระราชสมบัติหายไปโดยไม่ทิ้งไว้แม้จนบาทเดียว แต่ที่ตู้เซฟเก็บเครื่องฉลองพระองค์ ที่เก็บเครื่องประดับต้นตระกูลแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 มูลค่านับล้านบาท ยังคงอยู่ในสภาพปกติ สันนิษฐานว่าคนร้ายคงหากุญแจไขไม่สำเร็จเพราะต้องรีบหนีก่อนที่จะมีคนมาเห็นเข้า

ภายหลังผู้ต้องหาถูกจับกุมได้จากการที่ตำรวจได้รับแจ้งจากร้านทองที่รับจำนำของมีค่า ว่ามีผู้ต้องสงสัยนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีจุลจอมเกล้า และตราอื่นๆ ของราชวงศ์มาขาย จึงสามารถตามจับกุมจนได้ตัว โดยผู้ต้องหา นายแสง หรือ เสงี่ยม หอมจันทร์ กับนายวิรัช หรือเจริญ กาญจนาภัย อดีตคนสวนที่ถูกพระนางเธอลักษมีลาวัณไล่ออกไป สารภาพว่า ได้ลอบปลงพระชนม์พระนางเธอ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 เพราะเห็นว่าพระนางเธอเป็นเพียงเจ้านายสตรีที่ชราภาพแล้วและอาศัยอยู่เพียงลำพัง ทั้งเคยสังเกตว่าในตู้ชั้นล่างพระตำหนักลักษมีวิลาศมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เข้าใจว่าเป็นของมีราคา ทั้งสองเมื่อถูกไล่ออกไปแล้วจึงวางแผนกลับเข้ามายังพระตำหนักเพื่อขโมยทรัพย์สินดังกล่าว

นายแสง คนสวนผู้ลอบปลงพระชนม์
นายแสง คนสวนผู้ลอบปลงพระชนม์

 

บริเวณวังลักษมีวิลาศที่ต่อมาคริสตจักรแบ๊บติสมาซื้อไป
บริเวณวังลักษมีวิลาศที่ต่อมาคริสตจักรแบ๊บติสมาซื้อไป

คนร้ายให้การว่า ได้ลอบทำร้ายพระนางเธอด้วยการย่องเข้ามาทางด้านหลังขณะทรงปลูกต้นมะละกอเล็กๆ ที่ข้างพระตำหนัก โดยใช้ชะแลงแทงพระอุระ(หน้าอก) และตีที่พระเศียร(ศีรษะ) 3 ครั้ง จากนั้นอีกคนใช้สันขวานทุบพระศอ (คอ) อีก 1 ครั้งจนสิ้นพระชนม์ ทั้งสองได้ลากพระศพไปไว้ในโรงจอดรถหลังพระตำหนัก ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 800 เมตร เพื่ออำพราง แล้วค้นทรัพย์สินเท่าที่หาได้หนีไป

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระนางเธอลักษมีลาวัณ วังได้ถูกทิ้งร้างอยู่นานเป็นปีด้วยเหตุลอบปลงพระชนม์เจ้านายกลายเป็นข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ยุคนั้น วังจึงถูกทิ้งไว้จนรกร้างวังเวง ประกอบกับมีเรื่องโจษขานถึงวิญญาณของผู้เป็นเจ้าของสถานที่ตามความเชื่อแบบไทยๆ จึงไม่มีทายาทคนใดกล้าเข้ามาพำนักที่วังนี้ ต่อมา นายฮาโรลด์ และนางโรส รีฟส์ มิชชั่นนารีจากคริสตจักรแบ๊บติสต์ในสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในเมืองไทย กำลังมองหาที่ตั้งถาวรเพื่อสร้างอาคารศูนย์รวมนักศึกษาแบ๊บติสต์ จนกระทั่งมาพบที่ดินวังเก่าของพระนางเธอลักษมีลาวัณเข้า จึงมีการเจรจาขอซื้อที่ดินผืนนี้จากทายาทผู้สืบมรดก และสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

พระองค์วรรณเสด็จมาเป็นประธานเปิดศูนย์รวมนศ.แบ๊บติสต์
พระองค์วรรณเสด็จมาเป็นประธานเปิดศูนย์รวมนศ.แบ๊บติสต์

ครั้งนั้นพระองค์วรรณ จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระบรมราชานุญาตขายที่ดินผืนนี้ ต่อมาที่ดินผืนนี้จึงตกเป็นสมบัติของคริสตจักรแบ๊บติสต์ จนมีการบูรณะอาคารแล้วเสร็จได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2505 ซึ่งผู้ที่มาเป็นประธานในพิธีเปิดวันนั้นก็คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระเชษฐาของพระนางเธอลักษมีลาวัณนั่นเอง

  ศูนย์รวมนักศึกษาแบ๊บติสต์อาคารใหม่ 4 ชั้นขณะก่อสร้าง
ศูนย์รวมนักศึกษาแบ๊บติสต์อาคารใหม่ 4 ชั้นขณะก่อสร้าง

อีก 3 ปีต่อมา ศูนย์รวมนักศึกษาแบ๊บติสต์ ได้มีการปรับปรุงใหม่โดยก่อสร้างเป็นอาคารถาวร 4 ชั้นบนที่ดินดังกล่าว และคงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนข่าวลือผิดเพี้ยนที่ว่า วังลักษมีวิลาศ คือตึกทรงยุโรปเก่าที่อยู่ตรงหัวมุมถนนฝั่งตรงข้าม (ในอดีตคือสถานทูตอินเดีย) ปัจจุบันคืออาคารวรรณสรณ์ สถานที่กวดวิชาชื่อดังนั้น จึงเป็นความเข้าใจผิดไปคนละเรื่อง เพราะอยู่กันคนละฟากถนน จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

เรื่องราวรักหลอนในวังหลวงอันเข้มข้นดั่งละครชีวิตเรื่องหนึ่งอวสานลงอย่างน่าเศร้า ทิ้งไว้เพียงรอยอดีตที่นับวันจะลืมเลือนกันไปหมดแล้ว ที่นำมาถ่ายทอดนี้ก็เพียงอยากให้เป็นอุทาหรณ์ว่า ไม่ว่าคนเราจะเกิดมาในชนชั้นหรือชาติตระกูลสูงส่งหรือต่ำต้อยเพียงใด ก็ล้วนมีสิทธิประสบกับความล้มเหลว ผิดหวัง ราบรื่น สมหวัง สุข หรือ ทุกข์ได้เหมือนๆ กันทั้งสิ้น…..นี่คือสัจธรรมชีวิต!