อว.เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ “Future Skill x New Career Thailand” ปิดช่องว่างการเรียนรู้ในทุกมิติ

50

18 มิถุนายน 2563 – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินหน้ายกระดับผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 ให้มีการเตรียมความพร้อมในทุกมิติมุ่งเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยล่าสุดได้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 19 แห่ง เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ “Future Skill x New Career Thailand” อย่างเป็นทางการ นำร่อง 30 หลักสูตร ซี่งส่วนมากเป็นรูปแบบเรียนฟรีที่รัฐให้การสนับสนุน มีเพียงบางหลักสูตรที่อาจจะมีการเก็บค่าใช้จ่ายไม่เกิน 1,000 บาท เพื่อให้ผู้ว่างงาน แรงงานคืนถิ่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ บัณฑิตที่กำลังจบการศึกษาได้สร้างงาน สร้างอาชีพด้วยตนเอง รวมทั้งเพิ่มทักษะชั้นสูงและการทำงานสมัยใหม่ให้กับกำลังคนในภาค SMEs และภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้มีศักยภาพพร้อมทำงานหลังวิกฤต COVID-19 ขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินต่อ ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและรับมือโลกในศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การอยู่ในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่แค่รับมือเทคโนโลยีที่จะมาดิสรัปชั่น (Disruption) แต่ยังมีเรื่องของภัยคุกคามต่าง ๆ มากมายและที่ได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคธุรกิจอย่างรุนแรง สถานประกอบการหลายแห่งต้องหยุดประกอบการ แรงงานได้รับผลกระทบทางตรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) โดยถูกเลิกจ้าง ซึ่งกระทรวง อว. เล็งเห็นถึงปัญหานี้ และจะต้องเร่งพัฒนาทักษะให้กลุ่มผู้ว่างงาน แรงงานคืนถิ่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระให้ที่มีศักยภาพพร้อมทำงานหลังวิกฤต COVID-19 เพื่อเพิ่มผลิตภาพให้กับธุรกิจและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

โดยขณะนี้มีการเตรียมความพร้อมในทุกมิติ มีการระดมสรรพกำลังของสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐ และเอกชนในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/ Upskill/ Newskill) เพื่อการมีงานทำและการเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคตหลังวิกฤต COVID-19 ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้มีงานทำอย่างเร่งด่วน มุ่งพัฒนาวิชาชีพตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อการมีงานทำ ประกอบด้วย กลุ่มทักษะสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ทักษะการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ (Care Giver) ทักษะสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอัจฉริยะ (Smart Tourism) ทักษะสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล ด้านการจัดการข้อมูลดิจิทัล (Data Science) ทักษะสำหรับอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) ทักษะสำหรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotic and AI) ทักษะเพื่อการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม (Smart Innovative Entrepreneur) ทักษะการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์ (Creative Content) และอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

รศ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า สำนักงานปลัดฯ (สป.อว.) ได้สนับสนุนงบประมาณรวมทั้งสิ้น 14,000,000 บาท ให้สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาหลักสูตรเสริมทักษะที่เป็นหลักสูตรฝึกอบรม (Non Degree) เพื่อเป็นการลงทุนในมนุษย์และให้ปัญญามนุษย์ในการต่อสู้กับ COVID-19 อย่างแท้จริง และรับมือการอยู่ในโลกศตวรรษที่ 21 ที่เทคโนโลยีมาดิสรัปชั่น ดังนั้น ทักษะต่าง ๆ แรงงานจะต้องขยับไปข้างหน้าตาม Future Skill Set ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ สาขาอุตสาหกรรมดิจิทัล สาขาอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ สาขาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร สาขาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ สาขาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ สาขาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ สาขาอุตสาห กรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ สาขาอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยี สาขาอุตสาห กรรมแปรรูปอาหาร สาขาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และสาขาอุตสาหกรรมพัฒนาทักษะและกำลังคน

ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า โครงการนี้มีสถาบันอุดมศึกษานำร่องที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหารโครงการของ อว. จำนวน 19 แห่ง ในหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non degree) มีมหาวิทยาลัยของรัฐ 17 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอม เกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมีมหาวิทยาลัยเอกชนนำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารโครงการฯ ได้พิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ประกอบด้วย 1) หลักสูตรที่เสนอต้องตรงกับความเชี่ยวของสถาบันอุดมศึกษา 2) สามารถระบุความต้องการและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและผูกโยงกับการได้งานทำ และการทำงานที่มีคุณภาพ 3) หลักสูตรสามารถระบุทักษะที่มีมาตรฐานพร้อมวิธีวัดและประเมินผล 4) แต่ละหลักสูตรต้องมีผู้เข้ารับการอบรม ไม่น้อยกว่า 30 คน 5) วิทยากร มีคุณวุฒิและประสบการณ์เพียงพอในการถ่ายทอดความรู้ 6) มีอุปกรณ์ เครื่องมือพื้นฐานเพียงพอต่อการจัดอบรวม และ 7) มีการประเมินผลเพื่อตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานทั้งก่อนและหลังการอบรม นอกจากนี้ จะจัดให้มีกระบวนการ POST AUDIT เพื่อการรับรองหลักสูตร ซึ่งหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจะได้รับการส่งเสริมให้สามารถสะสมหน่วยกิตเพื่อรับปริญญา (Degree) ได้ต่อไปเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทย

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานกรรมการบริหารการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะชั้นสูงตามความต้องการของประเทศ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 นอกจากจะสร้างผลกระทบทางสุขภาพ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้อาชีพหลาย ๆ อาชีพในสังคมหายไป และเชื่อว่าหลังจากสถานการณ์นี้จบลงแล้ว อาชีพจำนวนไม่น้อยก็ยังยากที่จะกลับมาได้เหมือนปกติ บางอาชีพอาจจะไม่ฟื้นตัวอีกเลยก็เป็นไปได้ หรือที่กลับมาก็จะเป็นแบบเดิม ๆ ทำให้สังคมไทยเราเผชิญกับวิกฤติซ้ำซาก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจำเป็นต้อง Reskill Upskill แพลตฟอร์ม Future Skill x New Career Thailand ของกระทรวง อว. จะเป็น การยกระดับศักยภาพคนไทยให้มีทักษะพร้อมรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ช่วยเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพจากหลักสูตรที่หลากหลาย มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาทักษะในผู้เรียนได้อย่างแท้จริงและมีคุณภาพ โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ทาง www.futureskill-newcareer.in.th