ซีพี ออลล์ จัดงานมอบรางวัลหนังสือดีเด่น เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 17 นักเขียน นักวาดการ์ตูน สำนักพิมพ์ ร่วมรับรางวัลอย่างคับคั่ง

121

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2563 เวลา 13.00 น. ณ ห้องสุรศักดิ์บอลรูม ชั้น 11 โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร ออลล์ ออนไลน์ และเซเว่น อีเลฟเว่น ได้จัดพิธีมอบโล่พระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีให้แก่บุคคลที่ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ครั้งที่ 17 ประจำปี 2563 โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย กรรมการกิตติมศักดิ์โครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด เป็นประธานมอบรางวัล และแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การอ่าน” โดยมีนักเขียน นักวาดการ์ตูน บรรณาธิการ และสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 17 ปี ที่ผ่านมา ของการดำเนินโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ได้คัดสรรหนังสือดีมีคุณภาพทั้ง 7 ประเภทสู่สังคม ประกอบด้วย กวีนิพนธ์, การ์ตูน, นวนิยาย, รวมเรื่องสั้น, วรรณกรรมสำหรับเยาวชน, สารคดี (ทั่วไป) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อส่งเสริมนักเขียนคุณภาพ และสนับสนุนผลงานที่มีเนื้อหาจรรโลงสังคม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมถึงเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาตนเองด้านการอ่าน การเขียน

“โครงการเซเว่นบุ๊คส์อวอร์ด เกิดขึ้นได้และดำเนินมากว่า 17 ซึ่งจะมีปีที่ 18 อย่างแน่นอน เพราะซีพี ออลล์ เล็งเห็นเสมอว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีภาษาเป็นของตัวเอง ประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น ที่มีภาษาเป็นของตัวเอง ซีพี ออลล์ จึงต้องการสนับสนุนภาษาไทย และหนังสือภาษาไทยที่ดีให้มีเยอะในสังคมไทย

โครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด เป็นโครงการที่บริษัทมุ่งหวังให้เป็นเวทีเชิดชูและเป็นกำลังใจให้นักเขียนไทยได้พัฒนาฝีมือหรือผลิตผลงานที่มีคุณภาพ กระทั่งก้าวสู่ปีที่ 17 ได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่องและเป็นเจต นารมณ์ที่จะมุ่งมั่นส่งเสริมการอ่าน การเขียน และการเรียนรู้เป็นหนทางของการพัฒนาคนนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของซีพี ออลล์ ในด้านการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชนที่ดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม และยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมหนังสือดีมีคุณภาพให้สังคมไทย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนและร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน การเขียนให้เติบโตต่อไป เพราะองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดจากการอ่านและผลงานเขียนที่มีคุณภาพที่ออกสู่สังคม จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคน และนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติต่อไป”
ในปีนี้มีผลงานประเภทต่าง ๆ ส่งเข้าประกวดรวมทั้งสิ้น 256 เล่ม โดยผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ (ยกเว้นรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์) มีเพียง 1 ประเภท คือ วรรณกรรมสำหรับเยาวชน สำหรับผลการตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 17 ประจำปี 2563 มีดังนี้

ประเภทกวีนิพนธ์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มี 2 รางวัลได้แก่ เรื่อง สองฝั่งแม่น้ำเก่า โดย ลอง จ้องรวี สำนักพิมพ์โรงนาบ้านไร่ และเรื่อง Hi! So-Cial ไฮโซ…เชียล โดย ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย สำนักพิมพ์ Hi-So-Cial Publishing, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง ซากโบราณมีอยู่ทั่วไป โดย สุธีร์ พุ่มกุมาร สำนักพิมพ์สมุดไทย และเรื่อง บางใครอาจลืมทางกลับบ้าน โดย นิตา มาศิริ จัดพิมพ์โดย ราตรี มาศิริ

ประเภทการ์ตูน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง JUICE : ARRIVALS โดย Art Jeeno สำนักพิมพ์แซลมอน, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง PRESENTS FROM THE PRESENT โดย คัจฉกุล แก้วเกต สำนักพิมพ์บัน (BUNBOOKS) และเรื่อง Say hi until goodbye โดย Tum Ulit สำนักพิมพ์ Koob

ประเภทนวนิยาย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง ไต้ก๋ง โดย ประชาคม ลุนาชัย สำนักพิมพ์ดินแดนบุ๊ค และเรื่อง เลือดข้นคนจาง โดย ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ สำนักพิมพ์มติชน, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง The Boy Who Never Grows เด็กไม่รู้จักโดย เจนมานะ สำนักพิมพ์บัน (BUNBOOK)

ประเภทรวมเรื่องสั้น รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่องราวในหนึ่งวันกับเหตุการณ์ไม่ปกติอื่น ๆ ประพันธ์และจัดพิมพ์โดย กฤติศิลป์ ศักดิ์ศิริ และเรื่อง 24 ชั่วโมง โดย แพรพลอย วนัช สำนักพิมพ์นาคร, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง ไร้สัญชาติ และตัวละครอื่น ๆ โดยบัญชา อ่อนดี สำนักพิมพ์บ้านแม่น้ำ

ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน รางวัลชนะเลิศ เรื่อง ลูกไม้กลายพันธุ์ โดย จันทรา รัศมีทอง สำนักพิมพ์บรรณกิจ 1991, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง โลกของมดแดงกับแตงกวา (เอยด้วย!) ตอน ความลับใต้ผืนทราย โดย งามพรรณ เวชชาชีวะ สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่องเล่าของพลอยดาว โดย อัชฌาฐิณี สำนักพิมพ์อาเธน่า

ประเภทสารคดี (ทั่วไป) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง หญิงร้าย โดย วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล สำนักพิมพ์ยิปซี, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง มันนิซาไก คนป่าแห่งเขาบรรทัด โดย บุหลัน รันตี สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ และ เรื่อง My Chefs โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ สำนักพิมพ์แซลมอน

ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ รางวัลชนะเลิศ เรื่อง เรากำลังติดอยู่ในบ่วงแร้วปัจจุบัน โดย กิตติ อัมพรมหา, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง ต้นไม้ทุกต้นแคยเป็นต้นกล้า โดย ณรงค์ชัย แสงอัคคี, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง ฟังสิเสียงพรุ่งนี้เพรียกชีวิต โดย นนทพัทธ์ หิรัญเรือง และรางวัลเสริมสร้างกำลังใจ เรื่อง ดวงตาหิ่งห้อย โดย ด.ญ.ศุภาพิชญ์ พรอำนวยผล สำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็ก ๆ ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนวนิยายขนาดสั้น รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง คล้ายว่าน่าน เพิ่งพ้นผ่านไม่นานนัก โดย ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง และเรื่อง รองเท้าโลหะ โดย จิระพนธ์ ขันชารี, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง หน้ากากยิ้มของสิงโต โดย กนกศักดิ์ เรือนทอง

สำหรับผู้ชนะเลิศ “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ทั้ง 6 ประเภท จะได้รับรางวัลเงินสด 100,000 บาท พร้อมโล่พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ส่วนประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ รวม 4 หมวด คือ กวีนิพนธ์ การ์ตูน นวนิยายขนาดสั้น และรวมเรื่องสั้น ผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเงินสด 20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร เพื่อเป็นกำลังใจในการสร้างสรรค์งานเขียนต่อไป

“เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” เป็นหนึ่งในโครงการ “ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน” ของซีพี ออลล์ ที่ดำเนินการต่อเนื่องมา กว่า 17 ปี ตามอุดมการณ์ของบริษัทคือ “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” ซึ่งช่วยส่งเสริมการอ่านต่อยอด ความคิดให้กับคนในสังคมอีกทั้งสร้างนักเขียนคุณภาพให้มีมากขึ้นและสนับสนุนงานเขียนที่มีความสร้างสรรค์ต่อสังคม

ซีพี ออลล์ ได้เตรียมเปิดรับผลงานจากนักเขียนและสำนักพิมพ์เข้าประกวดในครั้งที่ 18 ทั้งหมด 7 ประเภท ได้แก่ ประเภทกวีนิพนธ์ การ์ตูน นวนิยาย รวมเรื่องสั้น วรรณกรรมสำหรับเยาวชน สารคดี (ทั่วไป) และรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อยู่ระ หว่างดำเนินการ) และเงินรางวัล 100,000 บาท (สำหรับรางวัลชนะเลิศ ยกเว้นประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์) โดยเปิดรับผลงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.csrcpall.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2071-2902-3