แม็คโคร ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผักท่ากระดาน ฉะเชิงเทรา ปรุงดิน บำรุงผักปลอดภัย ใต้รอยยิ้มจากรายได้มั่นคง

33

ผัก ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่เราใช้บริโภคเป็นอาหารประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น แตงกวา ผักบุ้ง ผักกาด กระเพรา หรือแม้กระทั่งพริกขี้หนูสวน สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ไม่น้อย หากเกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายที่แน่นอน โดยยังคงรักษาคุณภาพของผลผลิตได้ตามมาตรฐานความปลอดภัย

เช่นเดียวกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผัก ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีสมาชิกจำนวน 31 ราย ชีวิตพวกเขาพลิกผัน หลังส่งผลผลิตผักสารพัดชนิด ไปจำหน่ายยังแม็คโคร สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 40-50%!

@ปรุงดิน บำรุงผักปลอดภัย หลักคิดใหญ่ชาวท่ากระดาน
นายดวงจันทร์ ชาบรรทม อายุ 49 ปี ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผักท่ากระดาน เล่าว่า “เดิมทีเกษตรกรในกลุ่มปลูกผักจำหน่ายอยู่แล้ว ซึ่งมีเกษตรกรอยู่ในกลุ่ม 31 ครัวเรือน พื้นที่รวมกันประมาณ 140 ไร่ ปลูกพืชผักกว่า 60 ชนิด อาทิ แตงล้าน แตงกวา พริก มะเขือ บวบงู บวบเหลี่ยม และผักพื้นบ้าน อย่าง ดอกมะรุม ผักแขยง ชยา ผักปรัง แต่มาประสบปัญหาในการเพาะปลูก

“เมื่อการเพาะปลูกประสบปัญหาก็ส่งผลต่อผลผลิต ทางกลุ่มจึงได้ระดมความคิด ร่วมกันพัฒนาปรับปรุงสภาพดิน และการบำรุงพืชผัก เน้นให้มีคุณภาพและความปลอดภัย แต่ก็ยังพบปัญหาด้านการตลาดอยู่เหมือนเดิมเนื่องจากต้องส่งผลผลิตไปจำหน่ายโดยผ่านคนกลาง ทำให้พวกเราเกษตรกรไม่ได้รับรายได้อย่างที่ต้องการ”

@ แม็คโคร เสริมแกร่งช่องทางจำหน่าย
นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า “การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผักท่ากระดาน เกิดขึ้นจากการทำงานประสานระหว่าง แม็คโครและกรมส่งเสริมการเกษตร โดยแม็คโครเข้าไปดูศักยภาพที่มีอยู่ของเกษตรกร พร้อมแนะนำข้อมูล การบริหารจัดการต่างๆ รวมถึงขั้นตอนการส่งผลผลิตเข้ามาจำหน่าย อาทิ การบริหารจัดการการเพาะปลูก การพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด การบรรจุ-ขนส่ง ทุกอย่างต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล ซึ่งเกษตรกรในวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผักท่ากระดาน ให้ความสนใจในการพัฒนาศักยภาพเพื่อการส่งสินค้าเข้ามาขายที่แม็คโครกันมาก ทำให้สามารถส่งผลผลิตได้ตามมาตรฐานและปริมาณที่แม็คโครต้องการ”
เมื่อเกษตรกรทำได้ นั่นหมายความว่า ทั้ง 31 ครัวเรือนที่เป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ มีความมั่นคงในเรื่องรายได้มากขึ้น!

“ช่วงแรกที่เกษตรกรกลุ่มนี้ส่งผลผลิตให้แม็คโคร เริ่มที่ประมาณ 1 ตันต่อเที่ยว โดยส่งวันเว้นวัน หรือเดือนละ 15 ตัน แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้ทุกวันนี้ชาวท่ากระดานสามารถส่งผักมาจำหน่ายได้มากขึ้นเท่าตัว หรือ 2 ตันต่อเที่ยว หรือราว 30 ตันต่อเดือน เมื่อส่งผักตรงกับเราโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรกลุ่มนี้จึงมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” นางศิริพรกล่าว

@ รายได้สร้างรอยยิ้ม
นายดวงจันทร์ กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า “เมื่อเราไม่ต้องส่งผักผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่ส่งตรงมาขายให้กับแม็คโครเลย ก็ทำให้พวกเราได้เงินจากการขายผักอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีรายได้เพิ่มขึ้น 40-50% นอกจากนี้ แม็คโครยังได้เข้ามาช่วยให้ความรู้ในการสร้างมาตรฐานต่างๆ ทั้งการทำความสะอาดผักก่อนส่งจำหน่าย การรักษาคุณภาพ การทำแพ็คแกจจิ้งแบบเล็กๆ สำหรับจำหน่ายให้ครัวเรือน”

สิ่งที่น่าสนใจของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้คือ ความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม ที่ตกลงกันเลือกใช้วัสดุธรรมชาติเป็นบรรจุภัณฑ์ และช่วยกันคนละไม้ละมือในการบรรจุผักสดคุณภาพ ในกาบกล้วย หรือใบตอง โดยใส่ใจทุกรายละเอียด เพื่อให้ผู้บริโภคประทับใจผักชุมชนนานาชนิดของพวกเขา

นางศิริพร กล่าวอีกว่า “แม็คโคร พร้อมเคียงข้างเกษตรกรไทย ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้พวกเขามีศักยภาพในการเพาะปลูก และส่งผลผลิตคุณภาพเข้ามาจำหน่ายตามที่ตลาดต้องการ โดยสิ่งที่เราเน้นย้ำกับเกษตรกรที่ส่งผลผลิตให้กับเราก็คือ ความสม่ำเสมอในการรักษาคุณภาพ ความเข้มงวดในการรักษามาตรฐานความปลอดภัย การส่งผลผลิตในปริมาณที่แน่นอน  ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนไทยได้รับประทานผักสด ใหม่ สะอาด ปลอดภัย ช่วยสนับสนุนผลผลิตเกษตรกรไทย สอดคล้องกับนโยบายตลาดนำการผลิตของภาครัฐที่ได้ผลเป็นรูปธรรมยิ่ง”

ทุกวันนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่ากระดานมีรายได้จากการจำหน่ายผักหลัก และผักพื้นบ้าน ให้กับแม็คโคร โดยผลผลิตของชาวบ้านกลุ่มนี้ แม็คโครนำส่งที่ศูนย์กระจายสินค้าที่วังน้อยและมหาชัย เพื่อกระจายไปยังสาขาต่างๆ ขณะเดียว กันเกษตรกรส่งตรงให้กับ 5 สาขา ที่กรุงเทพฯ สองสาขาคือ สาทร ศรีนครินทร์ สาขาฉะเชิงเทรา สาขาสระแก้ว และสาขากบินทร์บุรี

“ลูกค้าแม็คโครเห็นผักของชาวบ้านกลุ่มนี้ก็สนใจมาก ทั้งรูปแบบการบรรจุสินค้าจากวัสดุธรรมชาติ ชนิดของผักที่หาไม่ค่อยได้ซูเปอร์มาร์เก็ต อาทิ ดอกมะรุม ผักแขยง  แม็คโครเองก็ดีใจที่สามารถทำให้เกษตรกรไทยได้ก้าวไปอีกขั้นในการทำธุรกิจเกษตร สร้างเกษตรกรรมที่ยั่งยืน” นางศิริพร กล่าวทิ้งท้าย