สวพส. เผยผลความสำเร็จการพัฒนาพื้นที่สูงในปี 63 และทิศทางการสืบสานขยายความสำเร็จต่อเนื่องปี 64

81

ผลการดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมามีกิจกรรมที่สถาบันฯ ดำเนินงานสร้างผลสำเร็จสามารถสร้างองค์ความรู้ที่มีคุณค่าให้กับประชาชนบนพื้นที่สูง กว่า 4,000 หมู่บ้าน ภายใต้ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชน การบูรณาการของหน่วยงาน สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชไร่ดั่งเดิมให้เป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ ลดการเผ่าป่า แก้ปัญหาความยากจน เกษตรกรสามารถคืนพื้นที่เพาะปลูกให้กับกรมป่าไม้ในหลายพื้นที่ ทั้งยังกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ต่อยอดองค์ความรู้ที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาพื้นที่สูงอื่น ๆ ต่อไป

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. มีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง โดยสนับสนุนและรักษาซึ่งพันธกิจของโครงการหลวงในการวิจัยและพัฒนา เผยแพร่และสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการพัฒนาอาชีพบนฐานความรู้ที่เหมาะสมต่อสภาพภูมิสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนมีอาชีพและรายได้เพียงพอ โดยยึดความเหมาะสมตามแผนการใช้ที่ดิน และเกษตรกรได้ผลตอบแทนที่ดีจากการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) พ.ศ.2548 ให้ความหมายของพื้นที่สูงว่า “พื้นที่ที่เป็นภูเขา หรือพื้นที่ที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลห้าร้อยเมตรขึ้นไป หรือพื้นที่ที่อยู่ระหว่างพื้นที่สูงตามที่คณะกรรมการกำหนด พื้นที่สูงในประเทศไทยครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 67.22 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 53 ของพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน แพร่ น่าน ลำปาง ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เลย สุโขทัย กำแพงเพชร กาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี พื้นที่ตั้งชุมชนบนที่สูงส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร ประมาณร้อยละ 88 ของหมู่บ้านมีการคมนาคมยากลำบาก ทุรกันดาร ห่างไกล ทำให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปดำเนินงานบนพื้นที่สูงได้ไม่ทั่วถึง นอกจากนี้พื้นที่สูงยังคงมีปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย และการบุกรุกทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประชากรที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงปัจจุบันมีประมาณ 4,000 หมู่บ้าน นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พระราชทานโครงการหลวงตั้งแต่ปี 2512 ซึ่งปัจจุบันมีการขยายงานไปแล้วกว่า 616 ชุมชน โดยมีศูนย์พัฒนาโครงการหลวง/สถานีเกษตรหลวง 39 แห่ง , โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 33 แห่ง , โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะ (โครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน) 11 แห่ง , โครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการหลวงและพัฒนาศักยภาพชุมชนบนพื้นที่สูง (785 ศศช.) 11 แห่ง และ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ 1 แห่ง โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) พัฒนาครูเข้าไปสอนความรู้ให้กับชาวบ้าน รวมทั้งสถาบันยังมีเกษตรผู้นำที่เป็นพี่น้องชนเผ่าในพื้นที่ให้เข้าทำงานกับคนในชุมชนเพื่อง่ายต่อการสื่อสารกันได้ สามารถสร้างผู้นำชุมชนฝีมือดีๆ ได้มากกว่า 1,000 คน (909 ราย) ในแบบการทำงานเชิงรุกเปรียบเสมือนบุคลากรของเราซึ่งปีที่ผ่านมาเรามีผู้นำเกษตรกรจังหวัดน่านไปให้ความรู้เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยองค์การระหว่างประเทศ ที่ประเทศออสเตรเลีย ตามแนวทางโครงการในพระราชดำริ

ในส่วนของผลสำเร็จ จากการดำเนินงานมีคุณค่าในการพัฒนาพื้นที่สูงในปี 2563 จึงมีทิศทางผลักดันการขยายผลสำเร็จกับสาธารณะชนเพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ให้กว้างมากขึ้น และยกระดับการดำเนินงานตามภารกิจของสถาบันฯ ปี 2564 ในประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

  • ด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนโครงการหลวง โดยขยายผลสำเร็จในการสร้างองค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ที่มีคุณค่า แบ่งเป็น 3 เรื่องหลัก คือ เฮมพ์พันธุ์ใหม่ภายใต้กฎหมายใหม่ เกี่ยวกับการขออนุญาตผลิตตามกฎกระทรวงใหม่ และสารสกัดกัญชง (CBD Hemp oil), ข้าวพันธุ์ท้องถิ่นที่มีโภชนาการสูง (ประเภทกลุ่มสีม่วงดำ) และ การผลิตองุ่น “ไชน์มัสแคท”
  • ด้านการขยายผลสำเร็จของโครงการหลวง ในการสนับสนุนงานโครงการหลวง “สารธารแห่งภูมิปัญญา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ขยายผลสำเร็จของสถาบันฯ ในการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงในเชิงพื้นที่มี 3 ประเด็น คือ 1)สืบสานขยายความสำเร็จงานโครงการหลวงสู่การพัฒนาพื้นที่สูง 2)สืบสานขยายความสำเร็จงานโครงการหลวงสู่การพัฒนาพื้นที่สูงในเชิงพื้นที่จังหวัดน่าน และ 3)สถาบันกับการพัฒนาการเปลี่ยนแปลง จากพื้นที่สีแดงเป็นพื้นที่สีเขียวบ้านหมากแข้ง “ชีวิตของฉันในพื้นที่สีแดง “My Life in the RED ZONE” และผลสำเร็จของสถาบันในการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงในการแก้ไขปัญหาสำคัญบนพื้นที่สูง แก้ปัญหาความยากจน ลดพื้นที่ปลูกฝิ่น ปรับเปลี่ยนพื้นที่ข้าวโพดเป็นพื้นที่ส่งเสริม
  • พัฒนาอุทยานหลวงราชพฤกษ์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา การเกษตร และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้สวยที่สุด รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ และส่งเสริมกิจกรรมของเยาวชนที่ดีที่สุด

ที่ผ่านมาสถาบันฯ ได้ดำเนินงานใช้หลักการทำงานภายใต้แนวพระราชดำริและงานโครงการหลวง โดยมุ่งช่วยเหลือเกษตรกรบนพื้นที่สูงจากที่ยึดอาชีพปลูกพืชไร่ ถางป่า ทำลายและเผาป่า จนเกิดหมอกควัน ให้หันมาทำการเกษตรอย่างปราณีต โดยการปลูกพืชเศรษฐกิจแทน เช่น พืชเกษตรในโรงเรือน ปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มพื้นที่สีเขียว มีการใช้น้ำและดินอย่างคุ้มค่า โดยใช้เวลาเพียงไม่นานสามารถเปลี่ยนพื้นที่จากปลูกข้าวโพดมาเป็นปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรใช้พื้นที่ลดน้อยลงเพียง 1-2 ไร่ แต่กลับมีรายได้มากกว่าปลูกข้าวโพดเฉลี่ย 20-30 ไร่ ทำให้สามารถคืนพื้นที่ป่าให้กับกรมป่าไม้ได้เป็นจำนวนมาก

“จริง ๆ ประชาชนที่อยู่ห่างไกลไม่ได้ถูกทอดทิ้ง รัฐบาลดูแลส่งคนเข้าไปช่วยดูแลในทุกมิติ แต่หลักการทำงานของเจ้าหน้าที่จะเหมือนเป็นผู้เปิดทองหลังพระก็ว่าได้ เช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า ช่วยชาวเขา จะเกิดประโยชน์กับชาวเรา และช่วยชาวโลกได้ต่อไป”  นายวิรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย