นายอาฤทธิ์ ศรีทอง ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ชุมชนในซอยรัชดาภิเษก 36 ส่งผลให้มีผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงเสียชีวิต 3 ราย โดยสื่อมวลชนระบุที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่กักตัวของกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด -19 ว่า จากการตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุ มีลักษณะเป็นอาคารไม้ สูง 1 ชั้น มุงด้วยหลังคาสังกะสี ที่ปลูกสร้างรุกล้ำลำรางสาธารณะ โดยขณะเกิดเหตุได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สถานีดับเพลิงลาดพร้าว สถานีดับเพลิงลาดยาว สถานีดับเพลิงสุทธิสาร การไฟฟ้านครหลวงบางเขน หน่วยอาสากู้ภัยต่างๆ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ระดมกำลังให้ความช่วยเหลือและดับเพลิง จนเพลิงสงบ เบื้องต้นได้นำแผงกั้นมาติดตั้งรอบบริเวณ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมสำรวจความเสียหายในพื้นที่ พบผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟครอก จำนวน 3 ราย เป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง เพศชาย 2 ราย และหญิง 1 ราย จากการสอบถามผู้พักอาศัยใกล้เคียงทราบว่าผู้ป่วยติดเตียงเป็นต่างด้าวชาวกัมพูชา ซึ่งมีอาการเจ็บขาเคลื่อน ไหวลำบาก ไปพบแพทย์เมื่อวันที่ 29 พ.ค.64 และกลับมารักษาตัวที่บ้าน มีผู้ให้ความช่วยเหลือส่งอาหาร จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ ในวันที่ 3 มิ.ย.64 เวลา 07.30 น. ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่เกิดเหตุร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน และศูนย์บริการสาธารณสุข 51 (วัดไผ่ตัน) เพื่อให้ความช่วยเหลือรับรองผู้ประสบภัยและรับรองความเสียหาย พร้อมทั้งมอบถุงยังชีพแก่ครอบครัวผู้ประสบภัย รวมถึงตรวจสุขภาพและเยียวยาสภาพจิตใจ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 โดยมอบเงินช่วยเหลือหลังละไม่เกิน ๓๓,๐๐๐ บาท ในกรณีที่บ้านเรือน หรือที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย หรือช่วยค่าเช่าบ้าน เป็นเวลา 1 เดือน 3,000 บาท ในกรณีที่เสียหายบางส่วน หากกรณีที่เสียทั้งหลังจะช่วยค่าเช่าบ้านเป็นเวลา 2 เดือนๆ ละ 3,000 บาท มีการมอบเงินทุนประกอบอาชีพไม่เกิน 11,000 บาท มอบค่าจัดงานศพรายละไม่เกิน 25,000 บาทและมอบเงินค่าปลอบขวัญรายละ 2,000 บาท ส่วนสาเหตุเพลิงไหม้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน
กรณีที่มีการระบุบริเวณที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ เป็นพื้นที่กักตัวของกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 นั้น ไม่เป็นความจริง เนื่อง จากสำนักงานเขตฯ ได้มีมาตรการในการบริหารจัดการ ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโค-19 จนไม่ผู้มีป่วยรอเตียงในพื้นที่ มีเพียงผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ได้รับการตรวจหาเชื้อแล้วไม่พบเชื้อ แต่ให้กักตัว เพื่อสังเกตอาการอยู่ในที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วัน ตามมาตรการป้องกันโรค ซึ่งในบริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพียง 1 ราย ที่กักตัวอยู่ที่คอนโดมิเนียม ซอยรัชดาภิเษก 36 แยก 9-3 ซึ่งไม่มีความเชื่อมโยงกับบริเวณที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ส่วนกรณีที่ปรากฏภาพผู้สวมใส่ชุด PPE เป็นไปตามมาตรการป้องกันในการปฏิบัติงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด- 19 จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในบ้านพักอาศัย หากพบผู้ติดเชื้อศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่จะร่วมกับสำนักงานเขตฯ เข้าสอบสวนโรคในบริเวณที่ได้รับแจ้ง เมื่อพบมีกลุ่มผู้เสี่ยงสูง จะนำเข้าสู่กระบวนการกักตัว เพื่อสังเกตอาการ โดยจะออกคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการ หรือออกคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ห้ามออกจากที่พักอาศัยเป็นระยะเวลา 14 วัน นับจากวันสุดท้ายที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยแนะนำให้แยกห้องนอน ห้องน้ำ ของใช้ส่วนตัว มีปรอทวัดไข้วัดอุณหภูมิทุกวัน หากอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส มีไข้สูง ให้แจ้งศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ รวมถึงแนะนำการแยกขยะที่ถูกสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู่ใส่ถุงขยะสีแดง ราดด้วยน้ำยาฟอกขาว มัดปากถุงให้แน่นรวบรวมไว้ รอสำนักงานเขตฯ เข้าจัดเก็บต่อไป
พ.ต.ท.สมเกียรติ นนทแก้ว ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า เมื่อได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ได้สั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยลาดพร้าวและสถานีดับเพลิงใกล้เคียงนำรถดับเพลิงเข้าดับเพลิงในสถานที่ดังกล่าว ซึ่งหลังจากเพลิงสงบ พบว่าเพลิงลุกไหม้เสียหายหมดทั้งหลัง และมีผู้ถูกไฟคลอกเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ รวม 3 ราย เนื่องจากบ้านหลังที่เกิดเหตุปลูกสร้างด้วยไม้ ทำให้เพลิงลุกไหม้และลุกลามหมดทั้งหลังอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ให้ความช่วยเหลือด้านเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมถึงให้คำปรึกษาแนะนำขั้นตอนการขอรับเงินช่วยเหลือจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ประสบภัย หรือทายาทจะต้องขอหนังสือรับรองการประสบภัยจากฝ่ายปกครองของสำนักงานเขตจตุจักร เพื่อใช้ประกอบการขอรับเงินช่วยเหลือจากกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานสงเคราะห์อื่นที่เกี่ยวข้อง
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า บริเวณที่เกิดเหตุเพลิงไหม้อยู่ในความดูแลของศูนย์บริการสาธารณสุข 51 วัดไผ่ตัน จากการตรวจสอบร่วมกับสำนักงานเขตจตุจักร พบครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 6 ครอบครัว มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และผู้ที่เกิดความเครียดจากเหตุการณ์ 2 ราย
ในบริเวณดังกล่าวไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 และไม่มีการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครได้ให้ความช่วยเหลือเยียวยาจิตใจแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ต่อไป