การเคหะฯ แจง กรณีเข้าพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ถูก บ.เอกชน ตัดไฟ

30

การเคหะแห่งชาติชี้แจงกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโครงการเคหะชุมชนนวมินทร์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาว่า เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในขณะที่ลงปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนที่ถูกตัดไฟในห้องพักอาศัย ซึ่งเป็นมิเตอร์ไฟฟ้าของการเคหะแห่งชาติ

เรืออากาศโท ชัยรัตน์ ทองบริบูรณ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวชี้แจงว่า จากกระแสสังคมในโลกโซเชียลและสื่อมวลชนที่นำเสนอภาพข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโครงการเคหะชุมชนนวมินทร์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมานั้น เป็นอุบัติเหตุในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชนที่เป็นผู้อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติในโครง การเคหะชุมชนนวมินทร์ มิได้มีเจตนาทำร้ายร่างกายคู่กรณีแต่อย่างใด

สืบเนื่องจากการเคหะแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในโครงการเคหะชุมชนนวมินทร์ว่า ถูกตัดกระแสไฟฟ้า การเคหะแห่งชาติจึงได้มอบทนายความของการเคหะแห่งชาติไปกับเจ้าทุกข์ เพื่อประสานงานกับการไฟฟ้านครหลวง เขตนวลจันทร์ว่า ตัดกระแสไฟฟ้าลูกบ้านด้วยเหตุผลใด ซึ่งทางการไฟฟ้าฯ แจ้งว่า ไม่ได้เป็นผู้ตัดกระแสไฟฟ้ายังคงให้บริการตามปกติ หลังจากนั้นตนในฐานะที่ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติและผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติในการติดตามช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID – 19 ในชุมชนของอาคารเช่า จากเหตุการณ์กระแสไฟฟ้าถูกตัดจึงได้ไปพบรอง ผกก. (สอบสวน) สน.โคกคราม เพื่อเข้าแจ้งความร้องทุกข์ว่ามิเตอร์ไฟฟ้าของการเคหะแห่งชาติถูกตัด แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ ส่งผลให้ประชาชนที่พักอาศัยในโครงการเคหะชุมชนนวมินทร์ได้รับความเดือดร้อน ต่อมาตนและเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสอบถามกับเจ้าของบริษัทเอกชนที่สำนักงานของบริษัทฯ ซึ่งเจ้าของบริษัทเป็นผู้ประกาศและยอมรับว่าเป็นคนสั่งตัดมิเตอร์ไฟฟ้าของลูกบ้านเอง ทั้งๆ ที่มิเตอร์ไฟฟ้าเป็นของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งลูกบ้านได้ชำระค่าไฟให้กับการไฟฟ้าฯ โดยตรง

ตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของการเคหะแห่งชาติ เจ้าทุกข์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ไปยังห้องไฟฟ้ารวมของอาคารที่เกิดเหตุ เพื่อทำการต่อมิเตอร์ไฟฟ้าให้กับประชาชนจำนวนหลายอาคาร (อาคารชุดสูง 5 ชั้น) แต่ห้องไฟฟ้ารวมกลับถูกล็อคด้วยกุญแจ การเคหะแห่งชาติจึงจำเป็นต้องถอดกุญแจออก และวางกุญแจไว้บริเวณหน้าประตู พร้อมกันนี้ได้ต่อไฟให้กับประชาชนและปิดป้ายประกาศหน้าประตูว่า เป็นทรัพย์สินของการเคหะแห่งชาติ เพื่อมิให้บุคคลใดไปตัดกระแสไฟฟ้าส่งผลให้ประชาชนที่พักอาศัยเดือดร้อน

ทั้งนี้ ในระหว่างที่ตนนำทีมงานพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินขึ้นไปแต่ละอาคาร เจ้าของบริษัทเอกชนฯ ได้สั่งให้แม่บ้านประมาณ 8 – 10 คน และลูกน้องจำนวน 3 – 4 คน พยายามขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติไม่ให้ขึ้นอาคาร และเดินตามรุมล้อมถ่ายคลิปวีดีโอในระยะประชิดตลอดเวลา ในลักษณะดักหน้าดักหลัง เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ของการเคหะแห่งชาติเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ดำเนินการต่อมิเตอร์ไฟฟ้าในอาคาร และด้วยความเร่งรีบที่ต้องการต่อมิเตอร์ไฟฟ้าให้แล้วเสร็จก่อนพลบค่ำ จำนวน 4 อาคาร ซึ่งในช่วงเวลานั้นแม่บ้านเข้ามาขัดขวางและแจ้งว่าได้มาถ่ายคลิปตามคำสั่งของเจ้าของบริษัทฯ ตนจึงได้สอบถามชื่อของแม่บ้านที่กำลังถ่ายคลิปวีดีโออยู่ว่าชื่ออะไร พร้อมทั้งก้มหน้าเปิดโปรแกรมเพื่อจะบันทึกชื่อในโทรศัพท์มือถือและจะนำไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อไป เนื่องจากขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติ ในจังหวะนั้นด้วยความเร่งรีบ จึงเกิดเหตุทำให้ใบหน้าของตนไปชนกับกล้องโทรศัพท์มือถือของแม่บ้านบริษัทฯ คนดังกล่าว ซึ่งตนได้เอ่ยปาก “ขอโทษ” แล้ว มิได้มีเจตนาทำร้ายร่างกายแต่อย่างใดตามที่เป็นข่าว ไม่มีการบาดเจ็บหรือทรัพย์สินของแม่บ้านบริษัทฯ คนดังกล่าวตกหล่นได้รับความเสียหาย

เรืออากาศโท ชัยรัตน์ ทองบริบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติม การเคหะแห่งชาติได้ทำการช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID – 19 ในทุกมิติ ทั้งการลดค่าเช่า และเข้าดูแลประชาชนตามภารกิจหน้า ที่ของการเคหะแห่งชาติ แต่บริษัทเอกชนหมดสัญญาเช่ากับการเคหะแห่งชาติไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งได้พยายามเรียกร้องสิทธิ์ และการกระทำที่ตัดกระแสไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับห้องพักอาศัยของลูกบ้าน ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องใน 3 ประเด็นคือ

1. นำทรัพย์สินของการเคหะแห่งชาติไปหาประโยชน์ในขณะที่หมดสัญญาแล้วและการเคหะแห่งชาติได้บอกเลิกตามกระบวนการของกฎหมาย
2. มิเตอร์ไฟฟ้าเป็นทรัพย์สินของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งประชาชนได้ชำระค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฯ โดยตรง มิได้ค้างชำระและไม่มีหนี้ค้างกับการไฟฟ้าฯ บริษัทฯ ไม่มีสิทธิที่จะตัดไฟฟ้า
3. เจ้าของบริษัทเอกชนฯ ได้สั่งการให้ลูกน้องและแม่บ้านเข้าขัดขวางในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติในการเข้าช่วยเหลือประชาชนในการต่อไฟฟ้า ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย รวมทั้งเข้าในพื้นที่พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงขอเรียนสังคมและสื่อมวลชนเพื่อโปรดพิจารณาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“เนื่องจากภาวะโรคระบาดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของกลุ่มประชาชนที่เป็นผู้อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติ การเคหะแห่งชาติมีนโยบายนำโครงการอาคารเช่าที่ให้เอกชนเช่าเหมากลับมาบริหารเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้เช่าที่อยู่อาศัยในอัตราค่าเช่าที่ถูกลง และสามารถช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดสถานการณ์ โรคระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างชุมชน ดูแลสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่อาศัยต่อไป” เรืออากาศโท ชัยรัตน์ กล่าว