รพ. พระมงกุฎเกล้า พลิกลานจอดรถเป็นโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยสีเหลืองเข้ม-แดง ที่มีประสิทธิภาพกว่า 100 เตียง

44

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โรงพระยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้เปิดโรงพยาบาลสนามความดันลบผู้ป่วยโควิด 19 ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถอย่างเป็นทางการ โดยรองรับผู้ป่วยประเภทกลุ่มสีเหลืองเข้ม-แดง จำนวน 100 เตียง ทั้งยังมีระบบการดูแลผู้ป่วยที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพตามมาตราฐานสากล

นับเป็นการขยายขีดความสามารถของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ที่ได้ปรับลานจอดรถบริเวณชั้น 4 อาคารเฉลิมพระ เกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สร้างผู้ป่วยความดันลบเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ภายในโรงพยาบาลสนามความดันลบและทุกเตียงสามารถให้การรักษาผู้ป่วยด้วยออกซิเจน (high-flow nasal cannula; HFNC) ได้ ซึ่งจัดเป็นผู้ป่วยประเภทกลุ่มสีเหลืองเข้ม-แดง โดยแบ่งเป็น 7 Module (A-G) ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถติดต่อสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ได้ทาง CCTV และผ่านทาง Line Application

โรงพยาบาลสนามแห่งนี้มีการนำเทคโนโลยี Fresh Air 100% ร่วมกับการระบบแอร์หมุนวนโดยผ่านระบบกรองอากาศ 3 ชั้น เป็นอากาศที่สะอาดกลับมาใช้ภายในห้อง ปรับความดันของห้องผู้ป่วยเป็นห้องความดันลบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่บุคลากร รวมถึงสามารถควบคุมความเย็นและความชื้นในหอผู้ป่วยตามมาตรฐานของสากล ที่จุดนี้ให้ความสำคัญกับการกำจัดอากาศเสียจากหอผู้ป่วย ผ่านระบบ HEPA Filter เพื่อคืนอากาศที่สะอาดให้กับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ PUDU สำหรับจัดส่งอาหารและยาให้กับผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพื่อลดการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และลดความเสี่ยงในการนำเชื้อไปแพร่ให้กับเจ้าหน้าที่

พันเอกหญิง ปริยนันท์ จารุจินดา รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มีการจัดตั้งหอผู้ป่วยอุบัติภัยหมู่ชั้น 4 และชั้น 5 อาคารท่านผู้หญิงประภาศรี รองรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเหลือง-สีแดง ได้ 50 เตียง แต่เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น จึงมีการขยายศักยภาพโดยการสร้างโรงพยาบาลสนามความดันลมแห่งนี้เพิ่มเติม ทำให้ทางโรงพยาบาลต้องเร่งดำเนินการสร้างให้สมบูรณ์

พันเอกเสริมศักดิ หงส์จินดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามความดันลบโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวอีกว่า ทางโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามีระบบการดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุม บริเวณหัวเตียงของผู้ป่วยจะมีระบบดูดอากาศที่สมบูรณ์ป้องกันไม่ให้เชื้อไปถึงแพทย์และเจ้าหน้าที่ได้ นอกจากนั้นในโรงพยาบาลสนามจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ในการเฝ้าติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม. ทีมรักษาพยาบาลจะติดตามอาการผู้ป่วยผ่าน กล้อง CCTV

การปฏิบัติหน้าที่ของทีมรักษาพยาบาล จะจัดทีมดูแลเป็น 7 ทีมเพื่อดูแลผู้ป่วยทั้ง 7 Module และสามารถดูแลผู้ป่วยทั้งผู้ใหญ่และเด็ก กรณีหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจทีมรักษาสามารถให้การรักษาด้วยการสอดท่อช่วยหายใจและส่งต่อผู้ป่วยไปยังหอผูเป่วย ICU ต่อไป

ทั้งนี้โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า นอกจากจะสร้างโรงพยาบาลสนามความดันลบแล้ว ยังดำเนินการสร้างห้อง ไอซียู รองรับผู้ป่วยโควิดขั้นวิกฤต อีก 27 เตียง และห้องกู้ชีพในกรณีฉุกเฉิน อีก 2 เตียง ณ อาคารอุบัติเหตุชั้น 1 จากแต่เดิมที่มีอยู่แล้ว 5 เตียง โดยจะสร้างให้แล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนกันยายนที่จะถึงนี้