การเคหะแห่งชาติ หนุนเกษตรพอเพียง ‘ชุมชนดินแดง’ พืชผักเพื่อส่วนรวม

70

นายสมชาย ชาตะรูปะ ประธานกลุ่มเกษตรอาสาพอเพียง ผู้อยู่อาศัยในโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (อาคารแปลง G) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า “กลุ่มเกษตรอาสาพอเพียง” เริ่มต้นจากการที่การเคหะแห่งชาติกับผู้อยู่ในอาศัยในชุมชนได้ร่วมกันคิดเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชน และผู้อยู่อาศัยก็ลงความเห็นว่าควรจะปลูกพืชผักสวนครัวในพื้นที่ด้วย การเคหะฯ จึงสนับสนุนส่งทั้งเมล็ดพันธุ์ ดิน และปุ๋ย มาให้ผู้อยู่อาศัยช่วยกันปลูกจากนั้นจึงมีการรวมตัวกันของสมาชิกจัดตั้งเป็น “โครงการเกษตรอาสาพอเพียง” เพื่อให้มีการดำเนินงานเป็นระบบชัดเจน และโปร่งใส มีการจัดตั้งคณะกรรมการของโครงการและเปิดรับสมัครสมาชิก โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

นายสมชายกล่าวต่อว่า ในช่วงแรกคนในชุมชนยังไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ ไปตลาดซื้อผักมาทีก็ทำกินไม่หมด เกิดการเน่าเสีย และผักในตลาดก็ไม่ใช่ผักอินทรีย์ พอคนในชุมชนเห็นว่าสามารถปลูกผักได้เองก็เริ่มสนใจเข้าร่วมด้วย มาช่วยกันรดน้ำ ปลูกผัก พรวนดิน ปลูกเองกินเอง ปลอดสารพิษ ได้สร้างกิจกรรมและความสัมพันธ์ของคนในชุมชนด้วย ใครได้มารดน้ำผักก็เท่ากับได้ออกกำลังกายไปในตัว ได้เจอพื้นที่สีเขียวบ้างก็รู้สึกสดชื่น สุขภาพร่างกายดี สุขภาพจิตก็ดีด้วย โดยผักของโครงการฯ นอกจากจะปลูกเพื่อแบ่งกันกินภายในชุมชนแล้ว ส่วนหนึ่งยังปลูกขายด้วย ซึ่งคณะกรรมการตกลงกันว่า ยอดรายรับจากการขายผักที่ปลูกในโครงการจะแบ่งออกเป็นสัดส่วน 60:40 โดย 60% จะเป็นค่าน้ำ ค่าดำเนินการต่าง ๆ และ 40% จะเป็นค่าดิน ค่าปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธุ์ที่นำมาปลูกต่อ ซึ่งโครงการนี้ส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนได้มีกิจกรรมร่วมกัน ก่อเกิดความผูกพันสมัครสมานสามัคคี จากคนที่ไม่เคยรู้จักกันเมื่อได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ก็ได้ใกล้ชิดกัน ดูแลซึ่งกันและกัน ลูกบ้านยังได้กินผักปลอดสารพิษ ลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว ไม่ต้องเดินทางไปตลาด

“ชื่อกลุ่มเกษตรอาสาพอเพียง มาจากแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 พวกเราไม่เคยคิดจะขยายโครงการนี้เป็นเชิงพาณิชย์เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด เราจึงทำแบบพอเพียง พอทำ พอกิน ทำเท่าที่พวกเราสามารถช่วยกันทำได้ ไม่ได้มุ่งหวังกำไร และพื้นที่เพาะปลูกก็เป็นพื้นที่ส่วนรวมที่พวกเราได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส่วน การซื้อขายจะบอกผ่านกันในไลน์ชุมชน ใครอยากได้ผักอะไรจะมาเก็บเอง ซึ่งราคาขายก็แล้วแต่จิตศรัทธา ใครมีมากให้มาก ใครมีน้อยก็ให้น้อย บางคนเก็บเอากะเพราไปกำเดียวให้มาหนึ่งร้อยบาทก็มี ใครลำบากไม่ค่อยมีเงินเอาไปกินฟรี ๆ ได้เลย ถือว่าได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ประธานกลุ่มฯ บอกเล่าอย่างภูมิใจ

ขณะที่ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึง “แปลงผักชั้นดาดฟ้าอาคารแปลง G” แปลงผักกลางกรุงของชุมชนดินแดงว่า การเคหะแห่งชาติเปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยได้ร่วมคิดร่วมทำเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ นั่นคือ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะ

“การเคหะแห่งชาติไม่ได้เพียงจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางเท่านั้น แต่ยังตระหนักถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในทุกมิติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เน้นย้ำมาโดยตลอด” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าว