แพทย์ด้านนิติเวชลั่น! ศพ “แตงโม” ยังต้องรอตรวจอีก 19 ชิ้น! แจงแล้วอาจมีโอกาสพลิกมั้ย?

42

รายการ เป็นเรื่องใหญ่ ออนแอร์ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.15 น. ทางช่อง JKN 18 ดำเนินรายการโดย “เพชร กรุณพล เทียนสุวรรณ” ได้สัมภาษณ์ “รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มศว. กรณีการผ่าชันสูตรรอบ 2 ศพ “แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์” จะมีผลทางคดีหรือไม่

เคสแบบนี้เคยมีมั้ยที่ผ่าเพราะกระแสสังคมยังมีข้อสงสัย?

วีระศักดิ์ “จริงๆ เคสที่เป็นคดีใหญ่ๆ หลายคดีจะมีการผ่ารอบ 2 อย่างคดีเคสน้องชมพู่เราก็มีการผ่าชันสูตรศพที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายหลังญาติก็เริ่มมีความสงสัยก็มาผ่าที่นิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ จริงๆ ต้องบอกว่าตามกฎหมายเป็นความประสงค์ของญาติจะทำได้ โดยปกติจะเป็นเรื่องของญาติเช่นญาติมองว่าอาจไม่ครบถ้วนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม บางหน่วยงานก็รับ แต่บางหน่วยงานต้องตั้งคณะกรรมการก่อน เช่นกระทรวงยุติธรรมเขาก็มีคณะกรรมการครับ เขาก็จะดูว่าเข้าข่ายของกระทรวงหรือไม่รับผ่าหรือไม่ พวกนี้มันจะมีขั้นตอนครับ”

กระแสสังคมเมื่อวานคนนั่งรอดูอยู่ทนายกับแม่ออกมาบอกว่ามันเป็นอุบัติเหตุ มันขัดกับกระแสสังคมมาก พอเป็นแบบนี้สังคมมองว่ารวบรัดคดีเพราะมีการจ่ายเงินหรือเปล่าครับ?

วีระศักดิ์ “ผมคิดว่าจริงๆ มันเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนนะครับ มีหลายๆ ท่านถามผมว่าจริงๆ แล้วมันล่าช้ามั้ย ผมก็บอกว่าวันนี้เราไม่รู้เลย อย่างเมื่อวานนี้ทำให้ผมเห็นภาพหลายอย่างว่าตำรวจมีการทำไปเยอะเลย แต่ที่ผ่านมาเราไม่ทราบว่าดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหน พอไม่ทราบตรงนี้ทุกคนก็จะมองว่าทำไมล่าช้า ผมก็ตอบไปว่าผมไม่รู้ จริงๆ เขาอาจทำไปแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังไม่ถึง 100 เขาเลยไม่แถลง ในภาพของความล่าช้าผมว่าเราตอบไม่ได้จากช่วงที่ผ่านมา แต่มาดู ณ วันนี้รวมถึงผลแถลงจากเมื่อวานถือว่าเร็วนะครับ เมื่อเทียบกับคดีโดยทั่วไป คดีทั่วไปอย่างที่ผ่านมาคดีฆ่าหั่นศพมันจะไม่จบลงด้วยนิติวิทยาศาสตร์หรือการผ่าชันสูตรศพแต่จบด้วยกล้องวงจรปิดนะครับ เพราะฉะนั้นการที่วันนี้มีข่าวเรื่องกล้องวงจรปิดที่ท่าน สส.ไปติดตาม หรือว่าโซเชียลไปติดตาม ผมว่าเป็นประโยชน์นะครับ แต่คุณภาพของภาพไม่ดีพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ แต่เมื่อไหร่ที่ได้ภาพที่ชัดเจนมันก็จะไขคดีได้ด้วย”

นึกได้ว่าคุณเต้ มงคลกิตติ์ เขาจะไปขอภาพจากนาซ่า โดยปกติแล้วทางพิสูจน์หลักฐานเคยเห็นภาพจากดาวเทียม มันใช้ประโยชน์ได้มั้ย?

วีระศักดิ์ “พอดีเมื่อวานอยู่ในรายการได้พูดคุยกันเท่าที่ทราบเนี่ยเป็น google earth นะครับ ก็อาจไม่ใช่เรื่องของนาซ่าที่มีการสื่อสารออกไป แล้วก็เป็นกล้องที่มองว่าภาพถ่ายดาวเทียมนั้นถ่ายเรื่องความร้อนได้ และระบุเป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิตขยับเคลื่อนไหวได้ เห็นว่าทำหนังสือไปแต่ยังไม่ได้รับคำตอบนะครับก็เลยไม่ทราบว่าทางนั้นจะอนุญาตหรือไม่ แล้วถ้าให้เนี่ยผมไม่ทราบว่ามันจะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงอะไรหรือไม่นะครับ ผมก็ไม่ทราบว่าเรื่องพวกนี้มันสามารถให้ได้โดยตัวบุคคลหรือจะเป็นระดับรัฐบาลหรือต้องอะไร ถ้าจะเอามาประกอบในสำนวนโดยหลักมันก็ต้องมาอย่างถูกต้องนะครับ ถ้าได้มาถูกต้องก็น่าจะเอามาประกอบได้”

ในฐานะที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช ในการชันสูตรพลิกศพ ถือว่าครบถ้วนแล้วยังครับ?

วีระศักดิ์ “คือคำว่าครบถ้วนอย่างผมเองหรือแพทย์ทุกคนที่ถูกฝึกมา อย่างแรกที่ให้สงสัยคือคดีฆาตกรรมก่อน ก็จะหาทุกบาดแผลว่ามีหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องหาว่าเกิดขึ้นจากวัตถุใด เราไล่ดูทั้งร่างกาย แล้วเดี๋ยวนี้ก็จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยปัจจุบันก็จะใช้ ct scan เข้ามาใช้ในศพด้วย เราก็หาอะไรที่มันรู้สึกว่าอาจเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดบาดแผล พวกนี้จะทำโดยพื้นฐานครบถ้วนสมบูรณ์อยู่แล้ว คือปกติคนมักจะมองว่าการทำโดยหมอนิติเวชทำโดยคนเดียว อย่างผมแบ่งหน้าที่ให้คนนึงอยู่เวร อย่างผมอยู่เวรวันนี้แล้วมีคดีเข้ามาเป็นคดีใหญ่ผมก็จะเราก็จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเข้ามาดู แน่นอนคนผ่าจะมีแค่คนสองคน แต่จะมีคนช่วยดู เพราะเราออกในนามสถาบัน ไม่นานนี้ก็มีคดีที่เพื่อนผ่าแล้วเขาสงสัยก็เอามาประชุมร่วมกันแล้วรายงานออกไป คดีใหญ่แบบนี้ไม่มีใครรับผิดชอบคนเดียวหรอกครับ เพียงแต่ว่าชื่อต้องเป็นชื่อคนเดียว”

การรีบประกาศว่ามันเป็นอุบัติเหตุเป็นการลดดราม่าให้กระแสสังคมมันเบาลงหรือเปล่าครับ?

วีระศักดิ์ “ผมติดตามอยู่เหมือนกันนะครับ จริงๆ ถ้าไม่ตั้งข้อกล่าวหาก่อนในเบื้องต้นก็จะไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะฉะนั้นต้องมีการตั้งในเบื้องต้น แล้วก็รอหลักฐานถ้ามีหลักฐานที่เปลี่ยนแปลงก็สามารถตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมได้ เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นคือเท่าที่มีหลักฐานและเท่าที่เห็นนิติเวชเรื่องการผ่าก็ได้เคลียร์กับทางญาติและเข้าใจกันเรียบร้อย ซึ่งหลักๆ ก็รอผลทางนิติวิทยาศาสตร์ยังมีอีก 19 ชิ้นที่ต้องรอผล ซึ่งอาจเปลี่ยนข้อกล่าวหาก็ได้ ยังไม่ทราบว่าหลักฐานทั้งหมดจะออกมาเป็นในรูปแบบไหน”

ตามที่ได้ข้อมูลมาแต่ละแผลมันดูเหมือนถูกทำร้ายมา?

วีระศักดิ์ “จริงๆ แล้วผมก็มีข้อจำกัดในการให้เห็นจากของที่ผู้สื่อข่าวให้ดูบ้างแต่เราก็ไม่ได้เอากลับ บางครั้งก็ฟังจากสื่อที่มีเข้าไปเห็นที่หน้างานก็จะมีการมาบอกเล่าตั้งคำถาม ทั้งหมดก็จะเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่อง เมื่อวานทางทนายเดชาก็ได้ออกมาแถลงนะครับว่าได้มีการพูดคุยกับตำรวจแล้วพบว่าส่วนนั้นส่วนนี้เป็นอย่างไร ถ้าฟังดีๆ ก็คือบริเวณ ศีรษะใบหน้าไม่ได้มีบาดแผลอะไร ที่ขาที่บอกว่าขนาดใหญ่ทนายเดชาก็แถลงว่าไม่ได้ลึกถึงกระดูก ถึงแค่เอ็นเพราะฉะนั้นไม่ได้มีปัญหาถึงขนาดทำให้เสียชีวิตได้ โดยสรุปเนื้อหาเป็นแบบนี้ แต่ถ้าย้อนกลับไปถึงตอนที่ถูกตั้งคำถามเริ่มต้นที่มีการพูดออกมาผมก็มีความคิดเห็นส่วนตัวว่า จริงๆ บาดแผลพวกนี้ในกรณีของการเสียชีวิตมาแล้ว 30 ชั่วโมง ผมก็ตั้งข้อสังเกตตั้งแต่เบื้องต้นว่าบาดแผลพวกนี้ที่เราเห็นถ้าดูจากภายนอกถ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็จะสงสัยได้ว่าเกิดบาดแผลหรือไม่ เพราะจะมีหลายครั้งที่คนเห็นแล้วสงสัย ไม่ผิดนะครับแต่ต้องหาคำตอบ ผมก็ตั้งคำถามว่าศพที่ใบหน้าเน่ากว่าส่วนอื่นของร่างกายมันเกิดได้จากสาเหตุอะไรบ้าง”

เรื่องใบหน้าคนสงสัยมากเลยว่า ทำไมตาถลนข้างนึงอีกข้างปกติ แล้วมีรอยช้ำ แบบนี้แม้แต่คุณเต้ก็บอกว่าอาจถูกขวดไวน์ฟาดเลย?

วีระศักดิ์ “มันเป็นเรื่องปกติเลยครับเพราะว่าคนทั่วไปพอเห็นแล้วต้องสงสัย แต่วิธีการพิสูจน์มันทำได้ ก่อนไปถึงวิธีการพิสูจน์ผมก็อธิบายนิดนึงว่าด้วยความที่ใบหน้าเน่ามากกว่าปกติในส่วนอื่น คำว่าเน่าเนี่ยคือ หน้าจะบวมอืดขึ้นสีผิวจะเปลี่ยน การไปเห็นจะระบุโดยสายตาทันทีว่าถ้าเกิดแผลฟกช้ำจะบวม นี่ก็บวม ในขณะเดียวกันบาดแผลฟกช้ำก็มีสีเขียวสีแดง อันนี้ก็มีสีเขียวสีแดงเพราะบางครั้งด้วยความที่เน่าแล้วสีมันก็จะเปลี่ยน”

แล้วทำไมหน้าถึงไม่เท่ากันครับ ในเมื่อคนตายก็คนเดียวกันจุดเดียวกัน แล้วทำไมหน้าถึงเน่าไม่เท่ากัน?

วีระศักดิ์ “เทียบเรื่องตัวกับใบหน้าก่อนนะครับ มีความเป็นใบได้ที่หน้าจะโดนแสงแดดความร้อนมันจะเน่าเร็วกว่า ในขณะเดียวกันอาจเป็นเรื่องบาดแผลก็ได้ที่ทำให้เน่าได้เร็วขึ้น หรือจะมีการคลั่งเลือดบริเวณหน้าก็ได้อาจทำให้เน่าได้เร็ว ถ้าเป็นแบบนั้นก็จะมีการผ่าบริเวณศีรษะก็รู้แล้วครับ ตรงนี้จะตอบได้ว่าถ้าไม่พบบาดแผลใดๆ เลยก็จะเกิดจากกระบวนการเน่า ที่คุณเพชรถามว่าในกรณีแบบนี้ทำไมตาข้างนึงโปน อย่างศพที่อยู่บนพื้นก่อนนะครับแล้วหน้าข้างนึงไม่แนบกับพื้นก็จะบวมอืดขึ้น แต่ข้างที่แนบกับพื้นก็จะไม่บวม พอพลิกขึ้นมาก็จะเห็นว่าหน้าไม่เท่ากัน เราก็ไม่รู้ลักษณะท่าทางของศพในขณะที่จมอยู่ใต้น้ำด้วย พวกนี้เราอธิบายได้แต่ต้องไม่ใช่บาดแผลก่อน เพราะถ้าเป็นบาดแผลเนี่ยลืมเรื่องนี้ไปได้เลยนะครับ ถ้าเปิดมาแล้วเห็นบาดแผลก็ต้องไปหาให้ได้ว่าวัตถุใดมากระทำ”

มีคนบอกว่าผู้ชายเวลาจมน้ำส่วนใหญ่จะคว่ำ ผู้หญิงจะหงายถูกมั้ยครับ?

วีระศักดิ์ “อันนี้เป็นข้อมูลที่คนไปเก็บศพส่วนใหญ่จะเล่า แต่ทางวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยมีการพูดถึงเรื่องนี้”

เรื่องบาดแผลบริเวณขา?

วีระศักดิ์ “จะมีที่สถาบันนิติเวชส่งชิ้นเนื้อบาดแผลบริเวณขาไปที่สถาบันอื่นแล้วก็มีผลออกมาว่า ตรวจพบแล้วว่าเกิดขึ้นก่อนการเสียชีวิต และไม่พบว่าเกิดการตัดถูกเส้นเลือดแดงใหญ่ เอาทีละอันนะครับถ้าเป็นบาดแผลที่เกิดหลังการเสียชีวิตนั่นเป็นบาดแผลที่อาจจมน้ำแล้วไปโดนอะไรก็ตาม เพราะสถานที่เกิดเหตุก็จะเหลือแค่ 2 ที่ คือบนเรือกับในน้ำ แล้วก็ที่บอกว่าไม่โดนเส้นเลือดแดงใหญ่ การสื่อตรงนั้นสื่อเพื่อบอกว่าถ้าโดนเส้นเลือดแดงใหญ่จะมีการเกิดภาวะช็อกได้ ถ้าโดนจะรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้นสาเหตุการเสียชีวิตจึงไปสรุปว่าเป็นการจมน้ำ การขาดออกซิเจนจากการจมน้ำเนี่ยชัดเจน พอคนมาตั้งข้อสังเกตแบบนี้มีคนบอกว่าถ้าเกิดเหตุบนเรื่องเกิดได้อย่างไร ฆาตกรรมหรือเปล่า เพราะฉะนั้นมันก็ต้องไปพิสูจน์ให้ได้ครับ วิธีการพิสูจน์คือดูเรื่องเลือด เนื่องจากว่าบาดแผลยาว 30 เซนติเมตร ถ้าเกิดบนเรือต้องมีเลือดแน่นอน มีคนตั้งคำถามว่าแล้วจะตรวจยังไงถ้าเขาเอาเรือไปล้างหมดแล้ว ในความเป็นจริงล้างยังไงก็ล้างไม่ออก จะมีตามซอก สามารถเอาสารไปพ่นได้มันก็จะเรืองแสงขึ้นมา”

แล้วเป็นไปได้มั้ยที่เขาจะสลับเรือ?

วีระศักดิ์ “อันนั้นก็ต้องพิสูจน์เอานะครับ ตำรวจก็ต้องออกมายืนยันเรื่องพวกนี้ ถ้าสมมติเป็นเรือลำนั้นแล้วไม่พบเลือดก็แสดงว่าเหตุเกิดในน้ำ ถ้าเกิดในน้ำก็ต้องมาตั้งประเด็นว่ามีวัตถุใดบ้างที่ทำให้เกิดบาดแผล ต้องบอกก่อนว่าในทางของนิติเวชเราไม่สามารถดูบาดแผลแล้วระบุอาวุธได้เลย เป็นเรื่องของการตรวจเปรียบเทียบว่าเป็นไปได้หรือเข้ากันได้หรือไม่”

คุณหมอพอจะเห็นแผลมั้ย ว่ามันแหว่ง หรือตัดตรงสวยงามจากของมีคม?

วีระศักดิ์ “คือจริงๆ ภาษาทางการแพทย์กับที่เอามาสื่อสารอาจไม่ตรงกัน อย่างเช่น บาดแผลฉีกขาดขอบเรียบในทางการแพทย์หมายถึงขอบเรียบจริงๆ นะครับ อาจเป็นใบมีด ถ้าเป็นขวดไวน์ตีให้แตกเวลากรีดลงไปก็ขอบเรียบนะครับ แต่บางกรณีเราจะไปเจอบาดแผลที่วัตถุไม่คมมาก มันกรีดแล้วบาดแผลขอบๆ มันจะถลอก”

บาดแผลพวกนี้เวลาไปตรวจรอบ 2 มันจะเปลี่ยนมั้ยว่าอันนี้ไม่เหมือนที่ตรวจรอบแรก มันจะมีผลทางคดีมั้ย?

วีระศักดิ์ “มีแน่นอนครับ คือถ้าเราโยงต่อมาเรื่องการชันสูตรรอบที่ 2 แต่ถ้าเป็นเรื่องบาดแผลก็อย่างที่บอกว่าทำได้อย่างไรนะครับ มาถึงเรื่องการผ่าชันสูตรรอบ 2 มันเป็นเหมือนการร่วมกันทำงานมากกว่าในต่างสถาบัน เหมือนรักษาคนไข้ครับ ถ้าเกิดรักษาโรงพยาบาลนี้แล้วคนไข้มีความประสงค์อยากไปรักษาอีกโรงพยาบาลนึงก็สามารถไปได้แต่ต้องมีการประสานข้อมูลกันระหว่างโรงพยาบาล เรื่องการชันสูตรก็เหมือนกัน ก็ต้องมานั่งคุยกันว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง แล้วประเด็นไหนที่ยังให้คำตอบสังคมทางคดีไม่ได้ก็อาจทำเพิ่มเติม ประเด็นไหนที่มีคำตอบแล้วแล้วเห็นตรงกันก็จะไม่ทำ เพราะคงไม่ได้เป็นลักษณะไปเริ่มนับ 1 ใหม่กับการผ่า ตอนนี้แผลที่ขาทางทนายเขาบอกว่าจากประเด็นที่พูดคุยกับตำรวจเขาบอกว่าเป็นบาดแผลขอบฉีกขาด ตอนนี้ยังไม่ได้ตัดประเด็นใบพัดหรือฟิน และยังไม่ได้ตัดประเด็นว่าตกลงเกิดขึ้นบนเรือหรือในน้ำ”

โดยส่วนใหญ่การผ่าชันสูตรรอบ 2 ใช้เวลานานมั้ย?

วีระศักดิ์ “คือการผ่าไม่นาน แต่ว่าการรอผลถ้าตามข่าวกระทรวงยุติธรรมก็บอกแล้วว่าใช้เวลา 30 วัน ภายนอกเนี่ยเราพยายามรักษาไว้ เพราะฉะนั้นการจะตรวจอะไรซ้ำภายนอกไม่ได้ลำบาก แต่ภายในอวัยวะต่างๆ มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นการสงสัยเรื่องบาดแผลผมคิดว่ายังดำเนินการได้ แต่ต้องเข้าใจในเรื่องเวลาของการชันสูตรด้วย”