นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการจัดงาน และการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตามที่ทางราชการและ กทม. กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกิจกรรมที่สามารถปฏิบัติได้และกิจกรรมที่ต้องงดดำเนินการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันได้สร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือของผู้ประกอบการ ผู้จัดงาน รวมถึงประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนร่วมอนุรักษ์และสืบสานประเพณีสงกรานต์แบบไทย เช่น การจัดพิธีสรงน้ำพระ ทำบุญที่วัด รวมถึงกิจกรรมทางศาสนาอื่น ๆ เช่น การจัดพิธีรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ตามประเพณีนิยม หากทำได้ให้เตรียมอุปกรณ์ไปเอง โดยเน้นความปลอดภัยและการปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention มาตรการ COVID Free Setting และมาตรการป้องกันควบคุมโรคตามที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโควิด 19
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า สำนักการแพทย์ ได้กำชับพื้นที่ที่จัดงานสงกรานต์ให้จัดกิจกรรมตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด โดยห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน กำหนดช่องทางเข้า-ออกจากงาน จัดจุดคัดกรอง และควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน 1 คน/4 ตารางเมตร ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง ตลอดเวลาที่ร่วมงาน สำหรับพื้นที่สาธารณะที่ไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน ห้ามเล่นน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม หลังเสร็จสิ้นงานสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน หลีกเลี่ยงพบปะกับผู้คนจำนวนมาก หากมีอาการสงสัยติดเชื้อให้ตรวจ ATK และพิจารณามาตรการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ ยังได้เชิญชวนประชาชนร่วมอนุรักษ์สืบสานประเพณีสงกรานต์แบบไทย ได้แก่ สรงน้ำพระในบ้าน กราบขอพรผู้ใหญ่ในที่ที่มีการระบายอากาศได้ดี หรือที่โล่ง ไม่หนาแน่น หรือคับแคบ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดกิจกรรมการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกัน เลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน ทำบุญที่บ้านแทนการเดินทางไปวัด เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของโรค ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ควรได้รับวัคซีนให้ครบ และห้ามผู้ติดเชื้อโควิด 19 หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงร่วมกิจกรรม สำหรับประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา เข้าร่วมงานสงกรานต์ และกลุ่ม 608 ต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และให้ประเมินความเสี่ยงของตนเอง หากมีอาการ หรือมีความเสี่ยง ขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมงาน หรือให้พิจารณาตรวจ ATK ก่อนเดินทางร่วมงานภายใน 72 ชั่วโมง อีกทั้งขณะเดินทางโดยขนส่งสาธารณะให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ งดรับประทานอาหารและงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับผู้จัดงาน และกิจการ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสงกรานต์ให้ลงทะเบียนผ่านระบบ TSC2 Plus และประเมินตนเองตามมาตรการ COVID Free Setting ได้แก่ การจัดกิจกรรมพิเศษ อาทิ แสดงคอนเสิร์ต ดนตรี งานอีเวนต์ งานเทศกาล มหกรรม การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชน ศาสนสถาน ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ เป็นต้น