กทม. ผนึกกำลัง สสส. หนุนนโยบาย “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง”

87

กทม. หนุนนโยบาย “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” สสส. ป้องกัน “คนไร้บ้านหน้าใหม่” พร้อมผนึก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – กรมพัฒนาสังคมสวัสดิการ – ภาคีเครือข่าย ช่วยชีวิตประชากรกลุ่มเปราะบางตั้งหลักชีวิต สร้างอาชีพ เตรียมผลักดันแผนฟื้นโครงการ “บ้านอิ่มใจ” เพื่อสุขภาวะที่ดี

เมื่อวันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมพัฒนาสังคมสวัสดิการ และภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่จุดประสานงานช่วยเหลือคนไร้บ้านหัวลำโพง ผสานความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ หนุนเสริมและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากภาวะไร้บ้าน และการตั้งหลักชีวิตของคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ พร้อมหารือแนวทางความร่วมมือผลักดันนโยบายคนไร้บ้าน และการป้องกันกลุ่มเปราะบางในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน หรือ “คนไร้บ้านหน้าใหม่” ตั้งเป้าฟื้นโครงการ “บ้านอิ่มใจ” และขยายผลโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเสี่ยงทางสุขภาวะของคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เป้าหมายของกรุงเทพมหานครในการลงพื้นที่สำรวจชีวิตความเป็นอยู่คนไร้บ้านที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพงครั้งนี้ ต้องการทำให้คนไร้บ้านทุกคนไม่ไร้สิทธิในสังคม หลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 โดยทาง กทม. ไม่อยากให้เรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘คนไร้บ้าน’ จึงร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายเพื่อดูแลคนกลุ่มนี้ร่วมกับ สสส. พม. เครือข่ายนักวิชาการ และภาคประชาสังคม โดย กทม. สนับสนุนโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง ของ สสส. และภาคีเครือข่าย เพราะเป็นโมเดลต้นแบที่สะท้อนให้เห็นว่าช่วยเหลือเรื่องที่พักและอาชีพของคนไร้บ้าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจุดเริ่มสำคัญที่จะทำให้คนไร้บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นายศานนท์ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ดูโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง ของ สสส. และภาคีเครือข่าย เป็นไอเดียที่ดีมาก ถือเป็นต้นแบบที่ดี ที่จะเป็นโมเดลฟื้นฟูโครงการอิ่มใจ เพื่อคนไร้บ้านกลับมาอีกครั้ง โดยจะนำเรื่องนี้ไปพัฒนาต่อ โดยจะเน้นให้ที่อยู่อาศัยกับที่ทำงานของคนไร้บ้านใกล้กัน เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคในการตั้งหลักชีวิต “การแก้ปัญหาคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร ผมเชื่อว่าต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดงานหนึ่ง ” นายศานนท์ กล่าว

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า การทำงานกับแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบ การเข้าสู่ภาวะไร้บ้านเป็นเวลานาน เสี่ยงทำให้มีปัญหาทางสุขภาพกายและจิตใจสูงขึ้น จากการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ และโควิด-19 ทำให้คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ สูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 จากคนไร้บ้าน 1,307 คน เพิ่มเป็น 1,700 – 1,800 คน ขณะที่คนไร้บ้านทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 4,000 คน สสส. เร่งดำเนินการสิ่งจำเป็น บรรเทาปัญหาคนไร้บ้านที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะหากปล่อยให้เกิดการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านเป็นเวลานาน จะทำให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพกายและจิตใจที่สูงขึ้น สสส. จึงได้สนับสนุนการดำเนินงาน 5 ด้านร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและภาคีเครือข่าย ได้แก่ 1.ด้านความมั่นคงทางอาหาร การจัดทำครัวกลาง จำหน่ายอาหารราคาถูก 2.ด้านที่อยู่อาศัย พัฒนาศูนย์พักคนไร้บ้านใน 4 พื้นที่ กรุงเทพมานคร ปทุมธานี เชียงใหม่ และขอนแก่นให้มีกระบวนการพัฒนาศักยภาพรายบุคคลให้ตั้งหลักชีวิตได้ มีความสามารถในการอยู่ร่วมกับคนอื่น และประสานงานกับภาคส่วนต่างๆได้ 3. ด้านบริการสาธารณสุข สนับสนุนเวชภัณฑ์ที่จำเป็นการรับรองสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพ 4. การจัดตั้งจุดประสานงานเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลประชากรกลุ่มเปราะบาง ดำเนินการติดตามคนไร้บ้านและช่วยเหลือให้ข้อมูลข่าวสารกับคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ และ 5. ด้านการประกอบอาชีพเพื่อให้คนไร้บ้านสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และกลับคืนสู่ครอบครัวและชุมชน

“การเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ลดความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะ สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนา “นวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉินบนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน” หรือโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” เพื่อจัดการที่อยู่อาศัยผ่านการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้านในรูปแบบ “แชร์” ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ร่วมกับกองทุนที่เครือข่ายคนไร้บ้านและมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยคนไร้บ้านต้องสมทบค่าเช่าร่วมกับโครงการฯ ในสัดส่วน 60:60 ของค่าเช่าห้อง ซึ่งส่วนเพิ่มร้อยละ 20 ของการสมทบจากคนไร้บ้าน จะนำไปเป็นเงินกองทุนช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มด้านอื่นๆ การดำเนินการตั้งแต่เดือนก.พ. – เม.ย.ที่ผ่านมา พบคนไร้บ้านกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงที่อยู่อาศัย 30 คน และมีกองทุนสะสมเครือข่ายฯ กว่า 3 หมื่นบาท เดือน พ.ค.-ก.ค. มีผู้สนใจเข้าร่วมอีก 20 คน และเดือน มิ.ย.-ส.ค. จะเพิ่มอีก 10 คน สะท้อนว่าโครงการนี้ช่วยให้เข้าถึงที่อยู่อาศัย ทำให้คนไร้บ้านเข้าถึงงาน และรายได้ที่เพียงพอ มีเงินออม มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เป็นพื้นฐานสำคัญของการตั้งหลักชีวิต ความสำเร็จที่เกิดขึ้นชี้ขัดว่า คนไร้บ้านมีศักยภาพหากได้โอกาสและการสนับสนุน จุดเริ่มต้นที่ดีนี้ สสส. เชื่อว่า จะเป็นพลังสำคัญลดจำนวนคนในอนาคตได้” นางภรณี กล่าว

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ สุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้จำนวนคนไร้บ้านหน้าใหม่ในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น จนศูนย์พักคนไร้บ้านของภาครัฐและภาคประชาสังคมในปัจจุบันไม่เพียงพอกับการรองรับ ส่งผลให้คนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก ต้องเจอความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตในที่สาธารณะ นวัตกรรมที่อยู่อาศัย “คนละครึ่ง” เกิดขึ้นจากเป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ที่พยายามช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน ที่จะนำไปสู่การตั้งหลักชีวิตในระยะยาว

นายอนรรฆ กล่าวต่อว่า วันนี้เป็นนิมิตหมายอันดี ที่ผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร เห็นความสำคัญของการสนับสนุนช่วยเหลือคนไร้บ้าน และการป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน จากนโยบายเกี่ยวกับคนไร้บ้านที่ครอบคลุมทั้งการฟื้น “บ้านอิ่มใจ” ที่จะเป็นศูนย์พักฉุกเฉินสำหรับคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงการเข้าถึงสวัสดิการ และการเข้าถึงงานและรายได้ที่เพียงพอ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมระดับเมือง ที่จะเป็นระบบคุ้มครองทางสังคมของเมือง ที่มิได้ช่วยเหลือสนับสนุนแต่เพียงคนไร้บ้านหรือคนไร้บ้านหน้าใหม่เท่านั้น หากแต่รวมถึงประชากรเปราะบางทางเศรษฐกิจสังคมในกรุงเทพฯ ทุกคน ”

“ในส่วนประเด็นนโยบายเกี่ยวกับคนไร้บ้านที่อยากเสนอผู้บริหารกรุงเทพมหานครชุดใหม่เพิ่มเติม ได้แก่ การทำระบบฐานข้อมูลคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครที่ครอบคลุม ที่จะช่วยให้เกิดการสนับสนุนและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางต่อภาวะไร้บ้านที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาการสนับสนุนระบบการเช่าที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มเปราะบางต่อภาวะไร้บ้านและคนไร้บ้านหน้าใหม่ ควบคู่กับการทำงานเชิงรุกทั้งการช่วยเหลือฉุกเฉินในพื้นที่สาธารณะและการค้นหากลุ่มเปราะบางต่อภาวะไร้บ้านในชุมชน ที่จะมีส่วนอย่างสำคัญในการป้องการการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านในระยะยาว ซึ่งภายใต้บทบาทหน้าที่และศักยภาพของกรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว และมีภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนพร้อมร่วมทำงานขับเคลื่อนเพื่อการสร้างโอกาสให้กับคนไร้บ้านบนฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” นายอนรรฆ กล่าว