หนุนผู้นำกองทุนฯ สตรี กระตุ้นภาคีเครือข่าย ตั้งเป้า ลดมูลหนี้คงเหลือไม่เกินร้อยละ 5 ในปี 2566

55

นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำ ผู้นำกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต้องกระตุ้นปลุกเร้าภาคีเครือข่ายและทีมงานเอาจริงเอาจัง เดินหน้าขับเคลื่อนกองทุนฯ เพื่อพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีไทย ลดมูลหนี้ให้คงเหลือไม่เกินร้อยละ 5 ในปี 2566

วันนี้ (11 มิ.ย. 65) เวลา 09.00 น. ที่รอยัลจูบิลี่บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมพบปะ พูดคุย ให้กำลังใจ และบรรยายพิเศษ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีกับการเสริมพลังสตรีเพื่อสตรี” ในโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างโอกาสด้านอาชีพ สร้างสรรค์บทบาทสตรี สู่ความเข้มแข็งของชุมชน ที่จะขึ้นโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางนวลจันทร์ ศรีมงคล ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชนปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พัฒนาการจังหวัด ผู้แทนกรุงเทพมหานคร หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด และคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด ทุกจังหวัด ร่วมรับฟัง

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดเผยว่า เป็นระยะเวลากว่า 70 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงตรากตรำบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อให้พวกเราสตรีไทยได้มีอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานกำหนดให้วันที่ 1 สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันสตรีไทย” และพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ “ดอกคัทลียาควีนสิริกิติ์” เป็นดอกไม้สัญลักษณ์วันสตรีไทยตราบเท่าทุกวันนี้ พร้อมทั้งพระราชทานแนวพระราชดำริ “หน้าที่สำคัญเบื้องต้นของสตรีไทย 4 ประการ” ได้แก่ 1. พึงทำหน้าที่ของแม่ให้สมบูรณ์ ทำให้ครอบครัวบังเกิดความรัก ความอบอุ่น 2. พึงทำหน้าที่แม่บ้านให้สมบูรณ์ ทำให้บ้านมีความน่าอยู่ เป็นที่พักพิงอันอบอุ่น ของสมาชิกในครอบครัว 3. พึงรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นสตรีไทย มีความนุ่มนวล อ่อนโยน สุภาพ เมตตา และยิ้มแย้มแจ่มใส รวมทั้งธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมไทย และ 4. ฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ความสามารถ มีความทันสมัย ยิ่งขึ้น และรักษาความสามัคคี ในหมู่คณะไว้ให้มั่นคง และเป็นความปลาบปลื้มปีติของพวกเราสตรีไทยทุกคนที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานวันสตรีไทย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 และพระราชทานพระดำรัสใจความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ามีความตั้งมั่นที่จะสนองพระเดชพระคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เหมือนดั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด และแผ่ขยายพระบารมีแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี” อันแสดงถึงพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งหากทุกคนน้อมนำพระราชปณิธานและพระราชดำริเหล่านี้ไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเอง ก็จะส่งผลให้ครอบครัวไทย สังคมไทย และประเทศไทยมีความสุข ความเจริญ นำไปสู่การพัฒนาด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ยกย่องชื่นชมของสังคมโลกอย่างยั่งยืน

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบแนวทางการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเมื่อวานนี้ (10 มิ.ย. 65) และชื่นชมความเข้มแข็งของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่มีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ พร้อมทั้งให้กำลังใจคณะทำงานฯ ทุกกลุ่มทุกฝ่ายในการพัฒนาบทบาทสตรีและโครงการต่าง ๆ ของสมาชิกกองทุน ด้วยการร่วมกันคิด ร่วมกันทำเพื่อให้พี่น้องสตรีในพื้นที่ได้มีอาชีพ มีรายได้ เกิดความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน และ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง คือ “การแก้ไขปัญหาความยากจน” ในลักษณะพุ่งเป้ารายครัวเรือน ทั้ง 5 มิติ คือ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ เพราะสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 5 ล้านคนจาก 14 ล้านคน โดยขอให้พวกเราขับเคลื่อนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง สร้างพื้นที่จากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไปสร้างงาน สร้างอาชีพสตรีให้ประสบความสำเร็จ เพื่อนช่วยเพื่อน ช่วยครอบครัวของเรา ถ้าครอบครัวของเราเป็นสุข มีรายได้ รายได้ที่เข้าบ้านก็จะยกระดับคุณภาพชีวิต ลูกหลานของเราจะได้มีโอกาสเรียนหนังสือ เมื่อยามเจ็บป่วยก็สามารถไปรักษาพยาบาลตนเองได้ เมื่อป่วยเสร็จแล้วก็กลับมาสู้ต่อ

“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พวกเราทุกคนต่างทุ่มเทอย่างไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อยในการทำงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เป็นกองทุนที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและสตรีไทยทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ทั่วประเทศ 14,762,717 คน และองค์กรสตรี 67,014 องค์กร ให้ได้มีแหล่งทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ ได้รับการพัฒนาศักยภาพ และแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ส่งผลให้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง และประการสำคัญ คือ ทุกคนได้มีส่วนร่วมช่วยกันปรับโครงสร้างหนี้เสีย ทำให้จากในปี 2562 มีหนี้ค้างชำระร้อยละ 53 สามารถลดมูลหนี้ในปี 2564 ลงเหลือร้อยละ 11.32 และในปี 2565 นี้ มีหนี้ค้างชำระร้อยละ 17.17 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 5.85 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งมั่นของพวกเราทุกคนที่มีสัญญาประชาคมของชาวกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่จะทำให้หนี้ค้างชำระลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5 ในปี 2566” ดร.วันดีฯ กล่าวเน้นย้ำ

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดและคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดที่มีผลการบริหารจัดการหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีดีเยี่ยม 7 ลำดับแรก ได้แก่ จังหวัดหนองคาย เชียงราย เพชรบุรี แพร่ พิจิตร สุโขทัย และแม่ฮ่องสอน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอให้คณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทุกจังหวัด ได้นำแนวทางการขับเคลื่อนของ 7 จังหวัดข้างต้น ที่เรียกว่า “หลักการ 5ต” ได้แก่ 1) “ตรวจสอบ” ตั้งแต่คุณภาพสมาชิก คุณภาพโครงการ และคุณภาพของการนำเงินไปบริหารจัดการตั้งแต่ก่อนอนุมัติ 2) “ติดตาม” ในทุกเดือน ทุกโอกาส ว่าสามารถทำตามกรอบ วัตถุประสงค์จริงหรือไม่ 3) “ตักเตือน” เมื่อพบว่าโครงการอาจจะกำลังขับเคลื่อนไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ 4) “ตรวจเยี่ยม” ให้ขวัญกำลังใจเพื่อนสมาชิกอย่างต่อเนื่อง และ 5) “ตั้งคณะกรรมการ” จากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน เมื่อพบปัญหาในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการช่วยกันในการแก้ไขปัญหา

“เรื่องใหญ่ของการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอยู่ที่ “ความเอาจริงเอาจังของภาคีเครือข่าย ของทีมงาน” ซึ่งแน่นอนว่าทางราชการตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดจนถึงพัฒนากร ต้องเป็นคนผลักดัน ขับเคลื่อน สนับสนุน ที่จะทำให้หลักการในการบริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นไปเพื่อการสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวของสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี นั่นคือ ถ้าเรามีผู้นำดี อันได้แก่ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ก็จะทำให้งานเป็นไปด้วยความสนุกสนาน สบายใจ และมีความสุข โดยพวกเราทุกคนมีหน้าที่ต้องช่วยกันกระตุ้นปลุกเร้า ทำให้คนที่มีหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ เอาจริงเอาจัง และเมื่อเอาจริงเอาจังแล้ว กระบวนในการตรวจสอบโครงการตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จนถึงจังหวัดก็จะมีคุณภาพ ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไม่มีวัตถุประสงค์ในการนำเงินไปชำระหนี้แหล่งทุนที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า เพราะเงินหมุนเวียนหรือเงินอุดหนุนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีใช้ในการเพิ่มพูนเรื่องรายได้ คุณภาพชีวิตของพี่น้องสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจะขับเคลื่อนด้วยความเข้มแข็งได้อยู่ที่ “ใจ” ของพวกเราทุกคน ทั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน อนุกรรมการ สมาชิกทุกคน ต้องช่วยกันปลุกเร้าจิตใจเพื่อนสมาชิกเพื่อให้เป็นเพื่อนสมาชิกมีจิตใจที่อยากเห็นพี่น้องของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยกันทำดี หาเลี้ยงชีพ ดูแลครอบครัว มีวินัยในการเงิน และรู้จักในการที่จะน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกมะกรูด มะนาว ตะไคร้ หัวข่า มะม่วง พริก และท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้จะเป็นรายได้ รวมไปถึง ต้องรู้จักการบริหารจัดการขยะ ด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนที่ต้องมีทุกบ้าน เพื่อให้มีปุ๋ยหมักบำรุงดิน บำรุงพืชผักสวนครัว ในส่วนของกระดาษ ขวดพลาสติก เศษเหล็ก เศษไม้ ก็สามารถแยกเก็บไว้ขาย และเมื่อลูกหลานเราเห็นตัวอย่างที่ดี เขาก็จะทำดีแบบเรา และสิ่งดี ๆ ก็จะเกิดขึ้นกับครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ อย่างยั่งยืน