นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวกรณีกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนภัยพายุโซนร้อน “โนรู” ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ ได้ติดตามสถานการณ์ฝนจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โนรู” ที่จะพาดผ่านประเทศไทยและส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงวันที่ 27 – 29 ก.ย.65 โดยประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทานเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อเตรียมแผนรองรับการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามแนวทางเดียวกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ซึ่ง กทม.ร่วมกับกรมชลประทานกำหนดแผนการควบคุมระดับน้ำตามประตูระบายน้ำและเกณฑ์การระบายน้ำตามสถานีสูบน้ำในพื้นที่รอยต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกรมชลประทานจะเร่งระบายน้ำจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น คลองเปรมประชากร ตอนบน ใช้การสูบน้ำออกไปลงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ และระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา คลองหกวาสายล่างระบายน้ำไปยังแม่น้ำนครนายก ส่วนคลองแสนแสบระบายน้ำส่วนหนึ่งไปยังคลองลำปลาทิวลงไปตามคลองชายทะเลแล้วสูบน้ำออกลงสู่อ่าวไทย อีกส่วนระบายน้ำไปยังคลองบางขนากลงแม่น้ำบางปะกง และคลองประเวศบุรีรมย์ ระบายน้ำไปยังสถานีสูบน้ำท่าถั่วลงแม่น้ำบางปะกง
สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักจากพายุโซนร้อน “โนรู” ได้เร่งลดระดับน้ำตามคูคลองต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับต่ำ สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชนและพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงจัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำ และบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็ว ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบประสิทธิภาพอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 244 แห่ง บ่อสูบน้ำ 316 แห่ง ให้พร้อมใช้งาน จัดเตรียมสำรองเครื่องสูบน้ำกรณีเหตุฉุกเฉิน จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) พร้อมรถเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองบางนา คลองพระโขนง และคลองประเวศบุรีรมย์ พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่หน่วยเร่งด่วน (หน่วย BEST) และเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงการเข้าพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที อีกทั้งกองทัพภาคที่ 1 ได้จัดเจ้าหน้าที่มาประจำที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม เพื่อร่วมติดตามสถานการณ์และประสานสั่งการทหารเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ ร่วมจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงและสถานีสูบน้ำต่าง ๆ เพื่อเร่งระบายน้ำ นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทาน รวมถึงเครื่องผลักดันน้ำจากกองทัพเรือ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และกรมชลประทาน รวมทั้งได้ประชุมหารือร่วมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณเขตรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีเทศบาลนครนนทบุรี กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาความเดือดร้อนให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ยานพาหนะ อุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการดับเพลิงและกู้ภัย ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัยกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำบนถนนสายหลักและพื้นที่ชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขังและพื้นที่เขตรอยต่อของกรุงเทพฯ รวมถึงประสานความร่วมมือเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร การอำนวยความสะดวกด้านการจราจร อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร ร่วมกับสำนักเทศกิจ สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนจากฝนตกหนักอย่างทันท่วงที หากประชาชนที่ประสบเหตุน้ำท่วม หรือเหตุสาธารณภัยสามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 หรือ 1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวว่า กรณีมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง สำนักเทศกิจและฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขตได้จัดเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกประชาชน โดยส่งกลับที่พักด้วยความปลอดภัย อำนวยความสะดวกด้านการจราจรและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาเครื่องยนต์รถขัดข้อง ขณะเดียวกันได้ประสานทุกสำนักงานเขตตรวจสอบสภาพน้ำท่วมขังและจัดทำบัญชีข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมขัง สำรวจและจัดทำบัญชียานพาหนะเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง โดยสำนักเทศกิจเป็นหน่วยงานหลักประสานจัดยานพาหนะให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง ซึ่งที่ผ่านมาสำนักเทศกิจและสำนักงานเขต ได้นำยานพาหนะออกให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น พื้นที่เขตวัฒนา คลองเตย หลักสี่ ดอนเมือง บางเขน บางกะปิ ประเวศ และเขตลาดกระบัง โดยตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. – 15 ก.ย.65 ได้จัดบริการรับส่งประชาชน 7,917 คน ช่วย รถเสีย 134 คัน แก้ไขต้นไม้ล้ม เสาไฟล้ม 6 ครั้ง เก็บขยะจากท่อระบายน้ำ 89 ครั้ง ขนย้ายสิ่งของ 8 ครั้ง ตรวจสอบเครื่องสูบน้ำ 454 ครั้ง อำนวยการจราจร 311 ครั้ง ส่งคืนป้ายทะเบียน 86 ป้าย และขนย้ายผู้ป่วย 16 คน