กทม.พร้อมเฝ้าระวังโควิด 19 ช่วงขาขึ้น เข้มงวดมาตรการป้องกันในสถานที่เสี่ยง

48

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แจ้งเตือนสถานการณ์โรคโควิด 19 ขณะนี้อยู่ในช่วงที่ต้องระมัดระวังมากขึ้นและเน้นย้ำสถานที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ตลาด สถานบันเทิง และสถานสงเคราะห์ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้ติดตามสถานการณ์และดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมสำรองยา เวชภัณฑ์ วัคซีน LAAB ให้เพียงพอ รวมทั้งสำรวจ ค้นหา ติดตามกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้รับวัคซีนไม่ครบโดส หรือยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตามกำหนด นอกจากนั้น ยังได้ประสานความร่วมมือตรวจสอบและกำชับเน้นย้ำสถานที่ที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ตลาด สถานบันเทิง และสถานสงเคราะห์ในกรุงเทพฯ ให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้เตรียมบุคลากรทางการแพทย์สำหรับดูแลผู้ป่วยทุกระดับความรุนแรงและทีมสหสาขาวิชาชีพติดตามอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยขาดการดูแลรักษาให้ติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่ หรือศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่เข้าช่วยเหลือ และหากต้องการรถฉุกเฉินทางการแพทย์ให้ประสานสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 เพื่อส่งต่อผู้ป่วยใน 6 โซนหลักทั่วกรุงเทพฯ โดย ณ วันที่ 18 พ.ย.65 มีสถิติผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ทั้งหมด 120 เตียง มีการครองเตียงในโรงพยาบาล (รพ.) หลัก 48 เตียง คิดเป็นร้อยละ 63.33 ของจำนวนเตียงทั้งหมด และคงเหลือเตียงว่างรองรับผู้ป่วยอีก 76 เตียง ซึ่งยังเพียงพอในการรองรับผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ส่วนยาต้านไวรัส ได้แก่ Favipiravir Molnupiravir และ Remdesivir ยังมีเพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ

นอกจากนั้น สนพ.ยังได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานภายหลังประกาศให้โรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในวันที่ 1 ต.ค.65 ประกอบด้วย (1) ปิดโรงพยาบาล (รพ.) สนามเอราวัณ (2) ให้ รพ.ทุกแห่ง เปิด 1 แผนก (ward) สำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด 19 (กรณีที่มาด้วยโรคอื่นแล้วตรวจพบเชื้อโควิด 19) (3) ผู้ป่วยสีเขียวให้เข้าโครงการเจอ แจก จบ โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาใน รพ. (4) รพ.ราชพิพัฒน์ รับผู้ป่วยกรณีส่งต่อจาก รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ และ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน (5) รพ.สิรินธร รับผู้ป่วยกรณีส่งต่อจาก รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร และ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ (6) ผู้ป่วยสีแดงส่งไปที่ รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ และ รพ.สิรินธร และ (7) การเบิกจ่ายให้เบิกจ่ายกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายตามสิทธิทั้ง 3 กลุ่ม คือ บัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ โดยผู้ติดเชื้อสามารถรับบริการทางการแพทย์ในการรักษาโรคโควิด 19 ผ่านระบบออนไลน์ (Telemedicine) ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” กรณีผู้ติดเชื้ออาการทรุดอย่างรวดเร็ว (อาการฉุกเฉินวิกฤตสีแดง) สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐ หรือเอกชนตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย ซึ่งแตกต่างจาก UCEP ทั่วไปที่รักษาได้ 72 ชั่วโมง จากนั้นต้องส่งไปรักษาตามสิทธิ ส่วนแรงงานต่างด้าวหากมีประกันสุขภาพสามารถใช้ประกันในการรักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ควรฉีดเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถฉีดเข็มกระตุ้นได้ทุก 4-6 เดือน ตามความสมัครใจ รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดและใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในพื้นที่แออัด โดยเฉพาะกลุ่ม 608 หรือเด็กเล็ก ควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวว่า สพส.ได้ตรวจสอบบุคลากรที่ดูแลผู้สูงอายุและผู้สูงอายุในบ้านผู้สูงอายุบางแค 2 และศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง เพื่อให้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่กำหนด โดยประสานสำนักอนามัย กทม.และสถานพยาบาลดูแลผู้สูงอายุตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 รวมทั้งดูแลความสะอาดของสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน รักษาระยะห่าง และกำชับการเข้าเยี่ยมผู้สูงอายุให้ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสถานการณ์เป็นระยะ เพื่อเฝ้าระวังป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 และประชาสัมพันธ์ให้ครอบครัวของบุคลากรที่ดูแลผู้สูงอายุและผู้สูงอายุรับวัคซีนเข็มกระตุ้น นอกจากนั้น ยังได้เตรียมแผนการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม ตรวจสอบ และให้คำแนะนำกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น การจัดเตรียมสถานที่แยกตัว หรือส่งต่อสถานพยาบาลกรณีพบผู้ติดเชื้อ เป็นต้น

นางสาวสมฤดี จันทรพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ได้เข้มงวดตลาดในกำกับดูแลทั้ง 12 แห่ง ให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด ทั้งผู้ค้าและผู้มาใช้บริการ มีการจัดจุดคัดกรองเข้า-ออก ชัดเจน ติดตั้งอ่างล้างมือและเจลล้างมือ กำหนดจุดเว้นระยะห่าง จัดทำฉากกั้นทุกโต๊ะภายในศูนย์อาหาร ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมและห้องสุขาทุกวัน ล้างตลาดเป็นประจำทุกสัปดาห์ รวมทั้งฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณแผงค้า พื้นทางเดิน รางระบายน้ำ พื้นถนนโดยรอบตลาด ห้องสุขาและจุดพักขยะ ขณะเดียวกันได้นำผู้ให้บริการทั้งผู้ค้าและผู้ช่วยขาย ทั้งที่เป็นคนไทยและแรงงานต่างด้าวในตลาด กทม.เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 รวมทั้งเน้นย้ำผู้ค้า ผู้ช่วยขาย และแรงงานต่างด้าวสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ทำการค้าภายในตลาด และทำความสะอาดแผงค้าหลังเลิกทำการค้าทุกวัน นอกจากนั้น ยังร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขและสำนักงานเขตที่ตลาดแต่ละแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่จัดหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการตรวจโควิด 19 เชิงรุกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยตรวจแบบ RT- PCR และ ATK เป็นระยะ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มาใช้บริการ ตลอดจนกำชับผู้ขายและผู้เกี่ยวข้องให้คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าตลาด ด้วยการสแกนผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยเซฟไทย” เพื่อความปลอดภัยและคัดกรองความเสี่ยงในระยะยาว