กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ปักหมุดประชากรโลกแตะ 8,000 ล้านคน เดินหน้าเรียกร้องความร่วมมือสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปกป้องสิทธิมนุษยชน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
องค์การสหประชาชาติประกาศเรียกร้องความร่วมมือในการเดินหน้าสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่ทุกคน ในวันที่ประชากรโลกมีจำนวนสูงถึง 8 พันล้านคน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 บ่งบอกถึงความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขซึ่งสามารถลดความเสี่ยงของการตายและทำให้อายุขัยเฉลี่ยมากขึ้น พร้อมเรียกร้องให้มนุษยชาติมองข้ามเรื่องตัวเลข ร่วมกันรับผิดชอบในการปกป้องผู้คนและโลก โดยเริ่มจากกลุ่มเปราะบางที่สุดก่อน ตั้งเป้าสามารถก้าวไปข้างหน้าในโลกที่ประชากรแปดพันล้านคนกินดีอยู่ดีได้
นายอันโตนิโอ กูเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า จนกว่าเราจะปิดช่องว่างอันแสนกว้างระหว่างกลุ่มที่มีความร่ำรวยและกลุ่มที่ยากจนบนโลกนี้ได้ เราต่างกำลังเตรียมตนเองไปสู่การเป็นโลกของแปดพันล้านที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด ไม่วางใจ วิกฤติ และความขัดแย้ง
ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติระบุว่า โลกจะมีความหลากหลายทางประชากรที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์โดยประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปถึง 10.4 พันล้านคนในช่วงปี ค.ศ. 2080 แต่อัตราการเติบโตโดยรวมกลับช้าลง หลายประเทศกำลังเผชิญกับแนวโน้มทางประชากรที่แตกต่างกันโดยชิ้นเชิง โดยปัจจุบันสองในสามของประชากรโลกกำลังดำรงชีวิตอยู่ทางกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเจริญพันธุ์ มีทารกเกิดใหม่ต่ำกว่า 2.1 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน ในขณะเดียวกันการเพิ่มขึ้นของประชากรกลับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศที่นับว่ายากจนที่สุดในโลกซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศในแอฟริกาใต้สะฮารา ซึ่งภายใต้สถานการณ์นี้ ทั่วทั้งโลกต้องร่วมกันยืนยันว่าทุกประเทศไม่ว่าประชากรจะเติบโตหรือลดลง ประเทศเหล่านั้นพร้อมที่จะมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชากรของตน และสามารถที่จะยกระดับและเสริมพลังให้กับกลุ่มที่อยู่ในภาวะเปราะบางในประเทศตนได้
ดอกเตอร์นาตาเลีย คาเนม ผู้อำนวยการบริหารกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ UNFPA กล่าวว่า โลกที่มีประชากรจำนวน 8 พันล้านเป็นหลักบอกระยะทางของมนุษยชาติ ผลลัพธ์ของอายุขัยเฉลี่ยที่ยาวขึ้น ความยากจนลดลง การตายของแม่และเด็กที่ลดลง แต่หากพุ่งความสนใจไปแค่ตัวเลขอย่างเดียวจะทำให้ถูกเบี่ยงเบนไปจากความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ นั่นคือการทำให้ความเจริญเป็นสิ่งที่ทุกคนทั่วโลกได้รับอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน โดยเราไม่สามารถพึ่งวิธีการแก้ปัญหาแบบเดียวและใช้กับทุกที่ได้ ในโลกที่ในยุโรปมีประชากรอายุกลางเฉลี่ยอยู่ที่ 41 ปี เทียบกับ 17 ปี ในประเทศแถบอัฟริกาใต้ ความสำเร็จจะต้องพึ่งนโยบายที่ประชากรทั้งหมดจะต้องมีหลักและสิทธิด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ มีการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์และสภาพแวดล้อม รวมถึงต้องอิงอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เที่ยงตรงอีกด้วย
“เมื่อเราพิจารณาข้อมูลของการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่น เราจะพบกับผลกระทบที่ไม่ใช่แค่เด็กคนเดียวเท่านั้นแต่ยังส่งผลไปยังลูกของเธอ และหลานของเธอในรุ่นถัดไปเช่นกัน และเป็นที่น่าเสียดายที่เราอยู่ในยุคที่การสร้างครอบครัวเป็นเรื่องยากสำหรับหนุ่มสาวในยุคนี้เป็นอย่างมาก ทั้งการอยู่รอด การสร้างครอบครัว แม้กระทั่งการสร้างบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นผลมาจากความจน จึงอยากเรียกร้องให้ทุกคนเคารพสิทธิในทางเลือกของเด็กผู้หญิง ในที่นี้คือเด็กหญิงทุกคน ไม่ว่าที่ใดก็ตามให้พวกเธอได้เติมเต็มศักยภาพด้วยตัวเธอเอง” ดอกเตอร์นาตาเลียกล่าว
ขณะที่ นายลี จุนหัว รองเลขาธิการสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า เราต้องมุ่งหน้าพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ได้ เราต้องเร่งแยกกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกจากพันธมิตรของพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล และการลดใช้พลังงานเหล่านั้น และต้องทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้ครอบคลุมและสนับสนุนผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แม้ว่าการชะลอการเพิ่มขึ้นของประชากรจะช่วยป้องกันการเสื่อมของสิ่งแวดล้อมหากชะลอได้ต่อเนื่องหลายสิบปี ทว่าประเทศที่มีอัตราการบริโภคและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดกลับมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่ลดลงหรืออยู่ในขั้นติดลบด้วยซ้ำ ในขณะเดียวกันการเพิ่มขึ้นของประชากรส่วนใหญ่ในโลกกระจุกตัวอยู่ในประเทศที่ยากจนที่สุด ซึ่งมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำมากกลับเป็นประเทศที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของโลกอย่างไม่เป็นธรรม
ดร.โอซา ทอคิลส์สัน ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศมาเลเซีย และผู้อำนวยการประจำประเทศไทย (UNFPA) เปิดเผยว่า ในประเทศไทย UNFPA ได้ดำเนินโครงการการคลอดอย่างปลอดภัยสำหรับทุกคน หรือ Safe Birth for All ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และเรกคิทท์ โดยเป็นความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน มาตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ซึ่งมีการระบาดของ COVID-19 และได้ทำให้การขับเคลื่อนงานขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทยขยายเป็นวงกว้างในด้านการช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยสตรีมีครรภ์และเด็กหญิงวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทย โดยสามารถทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ผู้หญิงและเด็กหญิง มากกว่า 30,000 คน มีการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและการคลอดบุตรที่ปลอดภัยแม้จะอยู่ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ผลจากความร่วมมือนี้ได้นำไปสู่การระดมทุนระยะยาวจากสำนักงานใหญ่ของเรกคิทท์และประเทศไทย ในปี พ.ศ.2565-2569 เพื่อขับเคลื่อนการยืนยันในสิทธิและทางเลือกของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่เปราะบาง ส่งเสริมบรรทัดฐานทางเพศในเชิงบวก สนับสนุนผู้หญิงและเด็กผู้หญิงให้มีสิทธิและมีทางเลือกของตัวเองซึ่งจะดำเนินการสนับสนุนการทำงานของกลุ่มฅนวัยใส จ.เชียงใหม่
ขณะที่ นางสาวริกา หนึ่งในประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นเจ้าหน้าที่ อสม. ใน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเข้าร่วมโครงการ Safe Birth for All และได้ให้กำเนิดบุตรชาย ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมาอันเป็นวันที่ประชากรโลกมีจำนวน 8 พันล้านคน กล่าวว่า ตนเองรู้สึกดีใจมากที่ลูกเกิดในวันที่มีประชากรบนโลก 8 พันล้านคน อยากให้ลูกเติบโตมาเป็นเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง เป็นเด็กดีของสังคมและประเทศชาติ ตนเองอยากมีลูกเพียง 2 คน และอยากให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนไปฝากครรภ์ที่สาธารณสุข เพื่อให้ลูกและแม่มีสุขภาพที่แข็งแรง อยากให้ทุกคนไปพบหมอตามนัด เพื่อให้ตนเองและลูกมีสุขภาพที่แข็งแรงและสมบูรณ์
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของประชากรจาก 7 สู่ 8 พันล้าน ใช้เวลาภายใน 12 ปี แต่การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอีกหนึ่งพันล้านคน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 14.5 ปี (ค.ศ. 2037) เป็นผลมาจากการชะลอตัวจองการเพิ่มขึ้นทั่วโลก และมีการคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะไปสู่จุดสูงสุดที่ประมาณ 10.4 พันล้านคนในช่วงปี ค.ศ. 2080 และคงอยู่ในระดับนั้นจนถึง ค.ศ. 2100 โดยการเพิ่มของจำนวนประชากรจาก 7 เป็น 8 พันล้านนั้น ประมาณร้อยละ 70 ของประชากรที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากประเทศที่รายได้ต่ำ หรือกลางต่ำ การเพิ่มขึ้นของประชากรจาก 8 เป็น 9 พันล้าน ประเทศทั้งสองกลุ่มนี้จะมีส่วนถึงร้อยละ 90 ของการเติบโตประชากรของโลก และจากปัจจุบันจนถึงปี ค.ศ. 2050 การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกในช่วงวัยต่ำกว่า 65 ปี จะเกิดขึ้นทั้งหมดกับประเทศรายได้ต่ำ หรือรายได้ปานกลางถึงต่ำ และการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศรายได้สูง และปานกลางถึงสูง จะเกิดขึ้นกับประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไป