กทม.ยกระดับมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 พร้อมขับเคลื่อนแผนเฉพาะกิจฯ แก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 66

63

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองว่า กทม.ได้ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ  (คพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงติดตามสถานการณ์และเตรียมพร้อมมาตรการเชิงรุก ตรวจสอบแหล่งกำเนิดฝุ่นเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องทั้งในสภาวะปกติและช่วงวิกฤติ ได้แก่ การควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ การก่อสร้าง โรงงานและสถานประกอบการ การเผาในที่โล่ง รวมถึงการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดมลพิษจากยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการประเภทต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินมาตรการที่สอดคล้องกับแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ของ คพ.ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ภายใต้กรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” โดยการสื่อสารเชิงรุกผ่านการรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า 7 วัน ให้ประชาชนรับทราบในช่วงวิกฤติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความห่วงกังวลของประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ www.bangkokairquality.com www.pr-bangkok.com เฟซบุ๊ก: กรุงเทพมหานคร กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. และสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. และแอปพลิเคชัน : AirBKK รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จอแสดงผลแบบเคลื่อนที่ และจอแสดงผลอัจฉริยะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ขณะเดียวกันได้ยกระดับมาตรการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 เช่น เพิ่มความเข้มงวดการควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรม บำรุงดูแลรักษาเครื่องยนต์รถที่ใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมการระบายมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้หม้อน้ำและโรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยดำเนินการมาตรการเชิงรุกในการตรวจสอบและให้คำแนะนำแก่เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ อาทิ กิจการแพลนท์ปูน กิจการพ่นสี กิจการหลอมโลหะ กิจการที่มีหม้อไอน้ำเชื้อเพลิงดีเซล เป็นต้น โดยสำนักงานเขตลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างน้อยแห่งละ 2 ครั้ง/เดือน และรายงานผลการดำเนินงานทุกวัน เพื่อควบคุมการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ป้องกันและลดการเกิดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะโรงงานและสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือปัญหาฝุ่นละออง อีกทั้งได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดปริมณฑลควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทต่าง ๆ พร้อมทั้งร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และ คพ.เข้มงวดการตรวจวัดรถควันดำและขยายพื้นที่ตรวจวัดเป็น 20 จุด เพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศตั้งแต่ต้นทาง

นอกจากนั้น ยังได้สร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง อาทิ การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อลดมลพิษ งดการเผาในที่โล่ง ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ขับช่วยดับเครื่องยนต์ เป็นต้น โดยประชาชนยังมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม ติดตามการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแจ้งเบาะแสแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไป