ชวนร่วมกิจกรรม พร้อมส่งประกวด “ดวงใจวิจารณ์” 2566

51

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. ร่วมมือกับ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ กองทุนศรีบูรพา และ เพจ “ดวงใจวิจารณ์” เปิดกิจกรรม “การพัฒนาประชาชนเพื่อสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์” จัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อเนื่อง พร้อม ประกวดบทวิจารณ์ “รางวัลดวงใจวิจารณ์” ปี 2566

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการอบรม “การพัฒนาประชาชนเพื่อสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์” (ค่ายบ่มเพาะนักเขียน/นักวิจารณ์) ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะเยาวชนและประชาชนด้านการคิดเชิงออกแบบสร้างสรรค์ โดยมี นางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ อดีตนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม รองคณบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายโตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ OKMD นายจรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์วรรณกรรมรางวัลหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ พร้อมด้วยสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ณ ลานสานฝัน สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ได้กล่าวเปิดกิจกรรมการอบรม “การพัฒนาประชาชนเพื่อสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์” นี้ ว่า เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจาก 5 ภาคีความร่วมมือ ได้แก่ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) หรือ สบร. คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย กองทุนศรีบูรพา และ เพจ “ดวงใจวิจารณ์” โดย สบร. มุ่งหวังให้ประชาชนคนรุ่นใหม่ นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ รวมถึงผู้ที่สนใจในด้านการเขียน การวิจารณ์ ได้มีช่องทางในการเข้าถึงองค์ความรู้ และการพัฒนาทักษะต่างๆ ตามความสนใจ ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านภาษาและงานวรรณกรรม ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับทั้งความรู้และประสบการณ์ส่งเสริมให้เกิดการคิดเชิงออกแบบสร้างสรรค์ ทำให้การเรียนรู้นั้นได้นำไปพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ สนุกกับการเรียนรู้ แก้ปัญหา และท้าทายที่จะนำความรู้และทักษะต่างๆ เหล่านั้นไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในอนาคตต่อไป โดยกิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนและประชาชน วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินคุณค่าของงานวรรณกรรมและวรรณกรรมที่ดัดแปลงเป็นสื่อร่วมสมัยอย่างมีหลักการและเหตุผล ขยายชุมชนวิจารณ์วรรณกรรม โดยสร้างเครือข่ายการวิจารณ์ให้กว้างขวางขึ้น สนับสนุนการวิจารณ์วรรณกรรมที่ดัดแปลงเป็นสื่อร่วมสมัย ต่อยอดและแลกเปลี่ยนการสร้างสรรค์งานวิจารณ์ศิลปะข้ามสาขา และหล่อหลอมวัฒนธรรมการวิจารณ์ในสังคมไทย

“สบร. ได้ขยายพื้นที่ของการวิจารณ์ เชื่อมโยงจากการวิจารณ์วรรณกรรมกับสื่ออื่นๆ ควบคู่ไปกับ การแนะนำนักเขียน หนังสือ ตลอดจนสร้างเครือข่ายการทำงานวิจารณ์ร่วมกับหน่วยต่างๆ ของสังคม อันจะเป็นการกระตุ้นวัฒนธรรมการอ่านและการวิจารณ์ในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ สามารถนำองค์ความรู้จากกิจกรรมนี้ ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เข้าถึงองค์ความรู้ และการพัฒนาทักษะต่างๆ ตามความสนใจ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ส่งเสริมให้เกิดการคิดเชิงออกแบบ สร้างสรรค์ ทำให้การเรียนรู้นั้นได้พัฒนาแนวคิดใหม่ๆ สนุกกับการเรียนรู้ แก้ปัญหา และท้าทายที่จะนำความรู้และทักษะ ต่างๆเหล่านั้นไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในอนาคตต่อไป”

ด้าน นางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวว่า “ดวงใจวิจารณ์” หมายถึงการวิจารณ์ที่มีดวงใจเป็นสำคัญ เดิมเป็นชื่อคอลัมน์ในนิตยสารขวัญเรือนซึ่งนิตยสารปิดตัวไปแล้ว ในสมัยก่อนแวดวงวรรณกรรมวิจารณ์ค่อนข้างคึกคัก แต่เมื่อคนส่งบทวิจารณ์น้อยลงคอลัมน์ก็ปิดตัวไป ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยตนเองรับเป็นหัวหน้าโครงการ มีคุณแสงทิวา นราพิชญ์ เป็นผู้ประสานงานโครงการ และทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีการจัดกิจกรรมวิจารณ์วรรณกรรมออนไลน์ เปิดพื้นที่เว็บไซต์และเฟซบุ๊ก “เพจดวงใจวิจารณ์” รวมทั้งจัดการประกวดบทวิจารณ์และเผยแพร่บทวิจารณ์ทำให้เกิดเป็นชุมชนการวิจารณ์ ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด มีการปรับรูปแบบกิจกรรมให้สอดคล้องสถานการณ์เป็นการเสวนาออนไลน์ คำว่าชุมชนการวิจารณ์ทำให้เห็นถึงความอบอุ่นระหว่างคนที่ทำงานเรื่องของการเขียนและการอ่านด้วยกัน

“ปีนี้จะเป็นปีที่พัฒนาต่อจากชุมชนการวิจารณ์เดิมให้มากขึ้นไปอีก หัวข้อปีนี้จึงเป็นการพัฒนาประชาชนเพื่อสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์ และเป็นที่น่ายินดีที่มีองค์กรเข้ามาร่วมสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น นั่นคือคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ OKMD สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ กองทุนศรีบูรพา การที่มีหน่วยงานเข้ามาร่วมมือกับเรามากขึ้นทำให้เห็นว่า ชุมชนการวิจารณ์ของเรานั้นมีความจริงจังมากขึ้น อบอุ่นมากขึ้น ทั้งๆ ที่กระแสโลกดิจิทัลกำลังจะทำให้เราต้องคิดอีกว่า จะทำอย่างไรจึงจะให้บทบาทของการวิจารณ์เกิดขึ้นควบคู่ไปกับงานเขียนทั้งในโลกดิจิทัลและในโลกของการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย ในวันนี้จึงรู้สึกว่าเป็นงานอีกก้าวหนึ่งของโครงการดวงใจวิจารณ์ ซึ่งก้าวมาอย่างมั่นคงและงดงาม มีเพื่อนมิตรเข้ามาอีกหลายกลุ่ม เป็นความสุขอย่างยิ่ง ขอบคุณทุกคนทุกฝ่ายมากๆ” นางชมัยภรกล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม รองคณบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ โดยฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ ยินดีอย่างมากที่ได้มีส่วนร่วมในการทำโครงการปีนี้ โดยประจักษ์พยานความสำเร็จหนึ่งของดวงใจวิจารณ์ คือตนเองซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิจารณ์ที่เกิดจากดวงใจวิจารณ์ จนถึงวันนี้ได้มาร่วมทำโครงการในฐานะผู้สนับสนุนการประกวดซึ่งในปีนี้มีระดับและประเภทที่หลากหลายขึ้น เพื่อสร้างนักวิจารณ์เพิ่มขึ้น และยังเป็นการจัดประกวดที่มีเงินรางวัลมากที่สุดตั้งแต่มีการจัดประกวดวิจารณ์วรรณกรรมมา รวมทั้งมีการรวบรวมผลงานจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มอีกด้วย

“การประกวดในปีนี้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ วิจารณ์วรรณกรรม และวิจารณ์สื่อร่วมสมัย ทั้งยังแบ่งกลุ่มของคนที่จะส่งเข้าประกวด คือ ระดับมัธยม อุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป เราจะอยากเห็นนักวิจารณ์เพิ่มมากขึ้น และขยายจากวรรณกรรมไปสู่สื่อร่วมสมัยด้วย ขอยกตัวอย่างเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์สืบเนื่องมาจากเกมส์สตรีมเมอร์ซึ่งเล่นเกมส์เกี่ยวกับพ่อมดที่โด่งดังมาก โดยเกมส์ดัดแปลงจากวรรณกรรมของนักเขียนอังกฤษ ที่นวนิยายดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ 7-8 ภาค และโด่งดังอยู่ก่อนแล้ว นักเขียนคนนี้ได้เขียนข้อความลงในทวิตเตอร์ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านและถูกวิจารณ์ว่าเป็น Transphobia หรือคนที่เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ส่งผลให้เกมส์สตรีมเมอร์คนนั้นถูกวิจารณ์ว่ากำลังช่วยประชาสัมพันธ์ทำให้คนที่เป็น Transphobia คนนี้รวยมากขึ้น ปรากฎการณ์นี้น่าสนใจตรงที่มีเรื่องนักเขียนอยู่ในนั้น และผลงานที่เธอเขียนกลายเป็นสินค้าแบบใหม่ผ่านสื่อ มีคนที่ทั้งอ่านและไม่อ่านเข้ามาร่วมต่อต้านในประเด็นนี้ กระแสแบบนี้เป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดกับโลกวรรณกรรม แต่ประเด็นที่เราจะแบนนักเขียนคนนี้หรืองานของเธอจริงๆ แล้วสัมพันธ์โดยตรงกับการมองเรื่องวัฒนธรรมการวิจารณ์ ในแง่ที่ว่าเราแบนตามแฮชแท็กที่บอกให้แบน หรือเราได้อ่านแล้วเห็นว่ามีหลักฐานในผลงานว่าเขาเป็น Transphobia จริง ดังนั้นก่อนที่เราจะไปร่วมรณรงณ์หรือร่วมแบน สิ่งที่เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญก็คือวัฒนธรรมการวิจารณ์ และในฐานะครูสอนวรรณกรรมวิจารณ์ จึงเห็นว่าการบ่มเพาะวัฒนธรรมการวิจารณ์ให้เกิดขึ้นในสังคมเป็นสิ่งที่ต้องต่อยอดและขยายผลไปอีก” รศ.ดร.นัทธนัยกล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “ก้าวใหม่ของการวิจารณ์ : หลายมุมหลากมอง” โดยมี นางชมัยภร บางคมบาง รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ นายโตมร ศุขปรีชา และนายจรูญพร ปรปักษ์ประลัย ร่วมเสวนา อีกทั้งยังได้เชิญชวนผู้สนใจลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมการอบรมที่จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางออนไลน์ และร่วมส่งบทวิจารณ์เข้าประกวด ทั้งประเภทสื่อร่วมสมัยและประเภทวรรณกรรม แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ ดวงใจวิจารณ์.com และ Facebook ดวงใจวิจารณ์