มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จัดกิจกรรม “12 ปีสวนโมกข์กรุงเทพ” และครบรอบการมรณภาพ 30 ปี ท่านอาจารย์พุทธทาส เชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมสร้าง “สังคมรมณีย์” ขับเคลื่อนงานธรรมให้กว้างไกล เริ่มสะสมบุญได้แล้ววันนี้ – 28 พ.ค. 2566
วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 เนื่องในปี 2566 เป็นโอกาสครบรอบ 12 ปีของมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และครบรอบการมรณภาพ 30 ปี ของท่านอาจารย์พุทธทาส อินทปัญโญ ทางมูลนิธิฯ จึงได้จัดกิจกรรม “สร้างสรรค์สังคมรมณีย์ 12 ปีสวนโมกข์กรุงเทพ อาจารยบูชา 30 ปี พุทธทาสละสังขาร” ระหว่างวันที่ 20 – 28 พฤษภาคม 2566 ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง เพื่อมุ่งเป็นหอจดหมายเหตุทางศาสนธรรม และเป็นแหล่งเรียนรู้ตามมาตรฐานสากล มุ่งหมายนำพาผู้คนให้เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ให้เกิดความร่วมมือกันกับพุทธศาสนิกชน ในการนำพาสันติสุขและการหลุดพ้นจากอำนาจแห่งวัตถุบริโภคนิยม ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างถูกต้องตามหลักพุทธธรรม และสร้างสานเครือข่ายภาคีทางธรรม
สำหรับกิจกรรมในวันแรก (20 พฤษภาคม 2566) เป็นการร่วมทำบุญ ณ ลานหินโค้ง โดยสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธม̣มธโช) กล่าวสัมโมทนียกถา มอบเครื่องระลึกแด่ผู้มีส่วนร่วมสนับสนุน และดร.วิรไท สันติประภพ กรรมการบริหาร หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้ถ่ายทอดความเป็นมา 12 ปีสวนโมกข์์กรุงเทพฯ โดยมี อาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิโพชฌงค์ และคุณอ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์ ศิลปิน/ดีเจ/อาสาสมัครหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ร่วมในพิธีครั้งนี้
ด้านนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้กล่าวเชิญชวนทุกท่านมาร่วมธรรมสังสรรค์ภายใต้แนวคิด “สร้างสรรค์สังคมรมณีย์ 12 ปี สวนโมกข์กรุงเทพ” ด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาวัดด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ ตลอดจนภาคีขับเคลื่อนงานด้านธรรมะ ฝ่ายฆราวาส สตรี และผู้คนในแวดวงใหม่ ๆ ที่มีความสำคัญกับพระพุทธศาสนา รวมถึงองค์กรการบริหารต่าง ๆ ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร อาทิ กลุ่มงานวัดวิถีใหม่ เครือข่ายการเรียนรู้สู่ธรรมวาที เครือข่ายขับเคลื่อนองค์กรรมณีย์ กลุ่มงานธรรมมาตา และสมาคมจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ตื่นตาตื่นใจไปกับการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและกลยุทธ์ดิจิทัล (Digital Transformation) มาปรับใช้ในงานบุญ เพื่อสนับสนุนงานด้านพระพุทธศาสนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และธำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงสืบไป
โดยกิจกรรมตลอดทั้ง 9 วัน ประกอบด้วย ธรรมพร เพื่อการสร้างสรรค์สังคมรมณีย์ พระธรรมเทศนา “ธรรมะบำบัดความป่วยจริงหรือ ครั้งที่ 47” การบรรยายธรรม “ทำอะไรก็ธรรม รอบพิเศษ” การรับฟังธรรมบรรยาย “ปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ วิสาขบูชา 2566” ตอน “รมณีย์ต้องกลับมา” กิจกรรมฟังธรรมตามกาล กิจกรรมจากพระสงฆ์กลุ่มอาสาคิลานธรรม การเสวนา “การใช้ไอทีในการจัดตั้งวางระบบสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล” และกิจกรรม The Last Moment เปิดตัวสารคดีชุดใหม่ “กว่าพุทธทาสจะได้ละสังขาร เมื่อ 30 ปีที่แล้ว” การสวดมนต์ทำวัตรเช้า ฟังธรรม สมาธิภาวนารับอรุณ เปิดบันทึกสุดท้ายก่อนเส้นเลือดในสมองแตก และการร่วมกันสร้างธรรมบันดาลใจให้กับสตรีและปฏิบัติบูชา นอกจากนี้ จะมีการจัดงานขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรม เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ รายละเอียดของกิจกรรมระหว่างวันที่ 20 – 28 พฤษภาคม 2566 มีดังต่อไปนี้
วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ร่วมทำบุญ ณ ลานหินโค้ง ดร.วิรไท สันติประภพ กรรมการบริหาร ถ่ายทอดประวัติความเป็นมา 12 ปี สวนโมกข์กรุงเทพ พร้อมรับชม VTR จากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ การเสวนาในหัวข้อ “ธรรมทัศนะจากมหาเถระ” และ “ธรรมทัศนะ” โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านเพจ Facebook : กิจกรรมสวนโมกข์กรุงเทพ และผ่านช่องทางของ Youtube : หอจดหมายเหตุพุทธทาส
วันที่ 21 พฤษภาคม 2566 กิจกรรมธรรมะบำบัดความป่วยได้จริงหรือ ครั้งที่ 47 การสวดมนต์น้อมจิตเป็นมิตรกับความเจ็บป่วย การเสวนาร่วมในหัวข้อ “พินัยกรรมชีวิต จิตสบาย” “การเยียวยาด้วยการเห็นและเข้าใจ” “หาสุขได้จากทุกข์” พร้อมทั้งการเจริญสติกับโยคะภาวนา การฝึกผ่อนคลายกับลมหายใจที่สมบูรณ์ และการแสดงธรรม ในหัวข้อ “ความป่วยไข้มา เตือนให้ฉลาด” ทำอะไรก็ธรรม รอบพิเศษ โดยพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ และ ดร.ธนกร ศรีสุกใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ดำเนินรายการโดย คุณอุ๋ย บุดด้าเบส
วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 การฟังธรรมบรรยาย “ปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ วิสาขบูชา 2566” ตอน “รมณีย์ต้องกลับมา” ในเวลา 09.20 น. คุยกับอุ๋ย ตอนพิเศษ “9 วัด 9 ถิ่นรมณีย์” พระธรรมเทศนา “รมณีย์เป็นที่ตั้งต้น”ของพระพุทธศาสนา โดยพระไพศาล วิสาโล พระธรรมเทศนา “รมณีย์ที่เรา” โดยพระธรรมพัชรญาณมุนี และฟังธรรมตามกาล โดยพระภาวนาเขมคุณ เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา
วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 กิจกรรมโดยพระสงฆ์กลุ่มอาสาคิลานธรรม การเรียนรู้วิถีภาวนา และศิลปะการสื่อสารเพื่อเข้าใจตนเอง การเรียนรู้วิถีภาวนาเพื่อการตื่นรู้ทุกขณะแห่งการดื่มชาสู่การใช้ชีวิตจริง กับกิจกรรม “Death Talk” (น้ำชาภาวนา) และกิจกรรมศิลปะการสื่อสารเพื่อเข้าใจตนเองอย่างอิสระ โดยคุณเกื้อกูล เยียวยา
วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “Digital Transformation” เพื่อสร้างสรรค์สังคมรมณีย์” การเสวนาในหัวข้อ “การใช้ไอทีในการวางระบบสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล” Workshop การจัดการปัญหาตามแนวทางอริยสัจ 4 และ Algorithmic Thinking” และ “Workshop step by step” Agile โจทย์ปัญหาแบบระบบ
วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 พบกับกิจกรรม The Last Moment เปิดตัวสารคดีชุดใหม่ “กว่าพุทธทาสจะได้ละสังขาร เมื่อ 30 ปีที่แล้ว” และการเปิดห้องจดหมายเหตุ : การจัดเก็บรักษาเอกสารจดหมายเหตุของท่านอาจารย์พุทธทาส กิจกรรม “The Last Lecture” เปิดบันทึกสุดท้ายก่อนเส้นเลือดในสมองแตก ของท่านอาจารย์พุทธทาส ในเวลา 13.00 น. ล้อมวงพูดคุยกับบุคคลที่เคยอยู่ในช่วงเวลา
วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 การสนทนาธรรม “อยู่ง่าย ตายดี” โดยสันติภาวัน ความสำคัญต่อหมู่สงฆ์ พร้อมกับการสวดมนต์ ทำวัตร ฟังธรรมตามกาลและปฏิบัติภาวนา และเวลา 12.30 น. กิจกรรม “อยู่ง่ายตายดี” กับดาราศิลปิน อิ้งค์ วรัญธร เปานิล แพท ณปภา ตันตระกูล และ ด.ช. จิณณะ จิตภักดี
วันที่ 27 พฤษภาคม 2566 กิจกรรมฟังธรรมบรรยายวันล้ออายุ สวดมนต์ทำวัตรเช้า ฟังธรรม สมาธิภาวนารับอรุณ ถ่ายทอดสดจากสวนโมกข์ไชยา และการปฏิบัติอานาปานสติภาวนา เสวนาธรรม “Suanmokkh Talk” และเวลา 16.00 น. กับการแสดงดนตรี โดยวงนั่งเล่น
ส่งท้ายในวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 กับกิจกรรมสร้างธรรมบันดาลใจให้กับสตรี และปฏิบัติบูชา อุบาสิกาคุ การเปิดนิทรรศการเผยแผ่งานธรรม อุบาสิกา และการล้อมวงเสวนา “มีอะไรใน สวนโมกข์ทำไม ทำไมสวนโมกข์” ธรรมบรรยายและนำภาวนา โดยพระราชวชิรธรรมาจารย์ (ท่านพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม)