“ศูนย์สุขภาพชุมชน” การเคหะแห่งชาติ เสริมสร้างสุขภาวะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

6

“การเคหะแห่งชาติ” เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” โดยมีพันธกิจในการสร้างบ้านคุณภาพที่ทุกคนเป็นเจ้าของเองได้ สร้างความสุขในชุมชน และสร้างสังคมคุณภาพเพื่อชีวิตที่ดี อีกทั้งยังมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยในทุกมิติ รวมถึงการเสริมสร้างสุขภาวะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติพัฒนาที่อยู่อาศัยมากว่า 50 ปี มีโครงการที่อยู่อาศัยในความดูแลกว่า 800 ชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก การเคหะแห่งชาติในฐานะเจ้าของโครงการฯ ต้องดูแลคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะ โดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ เช่น “ชุมชนดินแดง” ที่ผู้อยู่อาศัยในชุมชนเป็นผู้สูงอายุมากกว่า 50% ของผู้อยู่อาศัยทั้งหมด การเคหะแห่งชาติจึงบูรณาการความร่วมมือกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จัดให้มีศูนย์สุขภาพชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (อาคารแปลง G) โครงการเคหะชุมชนดินแดง 1 และ 2 ได้รับบริการการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานโดยอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน นอกจากนี้สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ยังสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน รวมทั้งจัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขฯ ให้มีความรู้ ความสามารถในการบริการด้านสุขภาพตามหลักสูตรที่กำหนดอีกด้วย

นางนัจกร ปัญจธารากุล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง บอกเล่าว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง และ อสส. ที่เป็นผู้อยู่อาศัยในชุมชนดินแดง จะเป็นผู้รับผิดชอบการบริการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานของคนในชุมชนดินแดง ซึ่งเป็นการบริการแบบผสมผสาน 4 ด้าน คือ การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพอนามัย การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ หากผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพที่อยู่นอกเหนือขอบเขตงานบริการของสาธารณสุขก็จะส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับช่วงต่อ สำหรับการให้บริการด้านสาธารณสุขในชุมชน จะมีการตั้งจุดคัดกรองความเจ็บป่วยต่าง ๆ ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางป้องกัน เยี่ยมไข้ที่บ้าน รวมถึงเลือกใช้ทีมลงพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ตามปัญหา เช่น ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือในเรื่องเงิน บัตรผู้พิการ ก็จะมีนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาตามรอบ

“ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง ได้รับความร่วมมือจากผู้อยู่อาศัยในชุมชนดินแดงเป็นอย่างดี อยู่ร่วมกันเหมือนครอบครัว อีกทั้งการเคหะแห่งชาติยังได้อนุเคราะห์สถานที่ให้จัดตั้งเป็นศูนย์สุขภาพชุมชน ทำให้ทุกคนในชุมชนดินแดงสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่มีคุณภาพได้อย่างไม่มีข้อจำกัด” นางนัจกรกล่าว

ด้าน นางบุญถึง อินทรทัต อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ศูนย์สุขภาพชุมชนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (อาคารพักอาศัยแปลง G) กล่าวว่า ศูนย์สุขภาพชุมชนที่อาคารแปลง G เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2562 เรื่อยมาจนในปัจจุบัน โดยศูนย์สุขภาพชุมชนในอาคารแปลง G จะมี อสส. ทั้งหมด 9 คน ซึ่งแบ่งการดูแลตามชั้นที่ อสส. อยู่อาศัย คือรับผิดชอบ 12 ห้อง และ อสส. 1 คน ต้องรับผิดชอบ 30 ครัวเรือน ตามหลักของสาธารณสุข

“หลังจากที่เราทำงานด้านนี้มาได้ 4 ปี ก็รู้สึกว่ายิ่งทำยิ่งซึมซาบกับการรับผิดชอบดูแลและการช่วยเหลือผู้คนมากขึ้น แม้ตอนที่ช่วงไวรัส COVID-19 แพร่ระบาด ทุกคนก็ช่วยกันเต็มที่ ทั้งดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 และผู้ป่วยทั่วไป และตอนนี้ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะลดน้อยลง แต่ศูนย์ของเราก็ยังคงดำเนินการด้านสุขภาพเช่นเดิม โดยการทำงานของ อสส. มีหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในชุมชน ที่จะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ (พี่เลี้ยง) ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง ในเรื่องการให้บริการด้านสุขภาพเสมอ”

ขณะที่ น.ส.สมฤดี ทองสมบูรณ์ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ศูนย์สุขภาพชุมชนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (อาคารพักอาศัยแปลง G) กล่าวเสริมว่า หน้าที่ของ อสส. คือ การดูแลสุขภาพสมาชิกในครัวเรือนที่ตนรับผิดชอบ โดยจะมีสมุดบันทึกประวัติสุขภาพของครัวเรือนตามระเบียบที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 กำหนดให้ไปดูแลอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง กรณีมีผู้ป่วยด้วยอาการเพียงเล็กน้อยก็สามารถเบิกยาสามัญประจำบ้านจากที่ศูนย์สุขภาพชุมชนไปได้ กรณีผู้ป่วยมีโรคประจำตัวก็ต้องประสานงานไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 หากเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็จะโทรแจ้งเบอร์ฉุกเฉิน 1669 ดังนั้น อสส. เป็นเหมือนผู้ดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นแล้วจึงประสานงานต่อไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิของผู้ป่วย

“แต่เดิมการทำงานนี้ไม่มีค่าตอบแทน แต่ภายหลังมีการให้ค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงิน 600 บาท จนปัจจุบันเพิ่มเป็นเดือนละ 1,000 บาท หากใครเป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ก็จะหักจากเงินค่าตอบแทนดังกล่าวไป ถึงตอนนี้ทำงานมา 4 ปี มีความภาคภูมิใจโดยได้ทำตามคำปฏิญาณของ อสส. ที่ได้ปฏิญาณตนไว้ว่า แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี” น.ส.สมฤดีกล่าวย้ำอย่างภูมิใจ