UNFPA จัดงานวันประชากรโลก The World Population Day 2024

34

UNFPA จัดงานวันประชากรโลก The World Population Day 2024 หนุนแนวคิด “ลงทุนพัฒนา ทุกเพศ ทุกช่วงวัย เพื่ออนาคตเราสดใสและยั่งยืน”

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNFPA Thailand) จัดงานวันประชากรโลก ประจำปี 2567 (The World Population Day 2024) พร้อมร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี การประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา (International Conference on Population and Development : ICPD) ภายใต้แนวคิด “Our Common Future: Investment through Life-Cycle Approach for Sustainable and inclusive Population and Development in Thailand” “ลงทุนพัฒนา ทุกเพศ ทุกช่วงวัย เพื่ออนาคตเราสดใสและยั่งยืน” โดยมี นางสาวซาราห์ บินเย๊าะ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดร.แคทรียา ปทุมรส รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนหน่วยงานองค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาควิชาการ นิสิตนักศึกษา สื่อมวลชน และผู้สนใจ ร่วมงานคับคั่ง ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ

นางสาวซาราห์ บินเย๊าะ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประธานเปิดงานวันประชากรโลก ประจำปี 2567 กล่าวว่า “วันประชากรโลก หรือ “World Population Day” ตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปี โดยสาระสำคัญของวันประชากรโลกในปี 2567 นี้ คือ “Embracing the power of inclusive data towards a resilient and equitable future for all” หรือ “โอบรับพลังข้อมูลที่ครอบคลุมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและเท่าเทียมสำหรับทุกคน” ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และการเปลี่ยน แปลงสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและสังคมสูงวัยที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำ คนเกิดน้อย จำนวนการตายมากกว่าการเกิด ซึ่งส่งผลให้มีคนในวัยทำงานในอนาคตน้อยลง การมีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากขึ้น ทำให้ไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์และมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง

นางสาวซาราห์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงปัญหาวิกฤตประชากรนี้ และได้ให้ความสำคัญกับการจัดนโยบายรองรับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรที่เกิดขึ้นผ่านกระทรวงหลักต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะกระทรวงหลักที่ดูแลคุณภาพชีวิตของประชากรไทยได้กำหนด 5 ยุทธศาสตร์ 5 หลักการ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม พี่น้องประชาชน และองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งต้องมี “ข้อมูลที่ครอบคลุม” เป็นพื้นฐานสำคัญในการตัดสินใจ ซึ่งการมีข้อมูลที่ครอบคลุมทุกมิติ (Inclusive data) มาประกอบกับการใช้แนวทางการพัฒนาทุกช่วงชีวิต (Life-cycle approach) จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถใช้ข้อมูลในการวางแผนและกำหนดแนวทางการดำเนินนโยบายการพัฒนาประชากรให้ตรงกับความต้องการของประชากรในทุกช่วงวัย นำไปสู่การส่งเสริมศักยภาพประชากรให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง เข้าสู่อนาคตร่วมกัน (common future) ในสังคมสูงวัย ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยทุกคนมีส่วนร่วม

“พลังของข้อมูลที่ครอบคลุมทุกมิติ จะเป็นเหมือนเส้นด้ายที่แข็งแรงที่จะถักทอความต้องการ ความหวัง ของทุกคน ทุกชีวิต สู่การลงทุนที่ความหมายเพื่ออนาคตที่เสมอภาค เท่าเทียม และส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวของประชากรในโลกของการเปลี่ยนแปลง การถักทอนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าเราไม่ก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ เพื่อประสานความร่วมมือกันเชิงนโยบายของทุกภาคส่วน รวมถึงตัวแทนของประชากรทุกเพศ ทุกช่วงวัย จากทุกกลุ่มและทุกบริบท เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและการจัดการข้อมูลที่สะท้อนความจริงที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในปัจจุบัน และในอนาคต ‘We must work together because together, everything is possible. – เราทุกคนจำเป็นต้องร่วมมือกัน เพราะความร่วมมือกันนั้นจะทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้’ รองปลัดกระทรวง พม. กล่าวย้ำ

ดร. จูลิตต้า โอนาบันโจ ผู้อำนวยการ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทยและผู้แทน UNFPA ประจำประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Population Fund (UNFPA) เป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติมีพันธกิจเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 สุขภาพดีและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาท ของสตรีและเด็กหญิงทุกคน โดย UNFPA มีพันธกิจหลักในการสนับสนุนให้ประชากรทุกกลุ่มสามารถ เข้าถึงสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และการวางแผนครอบครัว ทุกการคลอดปลอดภัย มีความเสมอภาคระหว่างเพศ ภายใต้การทำงานด้วยการพัฒนาชีวิตทุกช่วงวัย (Life-cycle approach) ต่อประชากรทุกเพศ ทุกวัยและทุกกลุ่ม โดยใช้ข้อมูลสถิติ หลักฐานเชิงประจักษ์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐทั้งใน ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อปฏิบัติที่ดีของของประเทศไทยไปสู่ประเทศต่างๆที่ต้องการบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันระดับสากล ผ่านความร่วมมือในรูปแบบโครงการความร่วมมือไตรภาคีแบบใต้-ใต้ (South-South and Triangular Cooperation)​

ทางเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ได้เน้นเรื่องความท้าทายของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนนโนยายด้านประชากร ในการจัดการสังคมสูงวัย เพื่อส่งเสริมประชากรให้มีความมั่นคงด้านสุขภาพ มั่นคงด้านการเงิน และมั่นคงด้านทางสังคม โดยเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมทั้ง AI จะมีบทบาทสำคัญในการปรับนโยบายพัฒนาประชากรอย่างยั่งยืน

ฝ่ายรองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงบทบาทของกรมฯในการส่งการเพิ่มคุณภาพประชากร ส่งเสริมสิทธิอนามัยทางเพศและการเจริญพันธุ์ของประชากร ทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่ม เน้นการเกิดที่มีคุณภาพ ป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และสนับสนุนการมีบุตรของผู้ที่พร้อมแต่อาจจะมีปัจจัยท้าทายด้านสุขภาพ หรือกฎหมาย
ด้านรองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงที่มาที่ไปของ ICPD และย้ำว่าไทยเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs เป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนและเป็นอันดับ 47 ของโลก ในส่วนของ กต.นั้นรับผิดชอบในเป้าหมาย SDG 17 Partnerships หรือหุ้นส่วนความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนรวมถึงการพัฒนาประชากร ทั้งนี้ไทยยังต้องพยายามมากขึ้นเพื่อให้ไทยประสบความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ 5 Ps โดยข้อมูลที่น่าเชื่อถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการวัดผลความคืบหน้าของแต่ละเป้าหมาย

ด้าน นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ UNFPA ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานวันประชากรโลก ประจำปี 2567 (The World Population Day 2024) ของ UNFPA ประจำประเทศไทย ขึ้นพร้อมร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี การประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา (International Conference on Population and Development : ICPD) ซึ่งจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2537 โดยมีรัฐบาล 179 แห่ง รวมทั้งรัฐบาลไทยเข้าร่วมสนับสนุนแผนปฏิบัติการของ ICPD ในงานในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Our Common Future: Investment through Life-Cycle Approach for Sustainable and inclusive Population and Development in Thailand” “ลงทุนพัฒนา ทุกเพศ ทุกช่วงวัย เพื่ออนาคตเราสดใสและยั่งยืน” เพื่อร่วมสร้างความตระหนักในประเด็นประชากรโลก ความเท่าเทียมและความเสมอภาคระหว่างเพศ เสริมสร้างพลังของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทุกรูปแบบ การส่งเสริมอนามัยทางเพศและการเจริญพันธุ์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรที่ครอบคลุมในทุกมิติ

“ในปีนี้ UNFPA ประจำประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันประชากรโลกอย่างหลากหลาย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ สื่อมวลชน เยาวชน จากทุกเพศทุกวัยในการพัฒนาประชากรอย่างเท่าเที่ยม ทั่วถึง และครอบคลุม เช่น มีจัดประกวด Clip Video สั้น and TikTok Challenge by UNFPA Thailand และประกาศผลมอบรางวัลในวันนี้ รวมทั้งได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประชากรในประเทศไทยกล่าวปาฐกถาในงานวันนี้ รวมถึงการเสวนาในประเด็น ‘ลงทุนพัฒนา ทุกเพศ ทุกช่วงวัย เพื่ออนาคตเราสดใสและยั่งยืน’ เพื่อเน้นย้ำถึงความสำเร็จของประเทศไทยด้านการพัฒนาประชากรในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางเชิงกลยุทธ์ที่เป็นไปได้ของการลงทุนในทุกกลุ่มประชากรเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันท่ามกลางความท้าทายของสังคมสูงอายุในประเทศไทย และปีนี้ เรายังร่วมคุณคริสติน่า อากีล่าร์ Champion of UNFPA Thailand และบริษัท นินจา เพอร์เฟคชั่น จำกัด บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด และภาคีที่เกี่ยวข้องร่วมจัดงาน Her Awards: UNFPA Thailand 2024 ประชากรหญิงผู้สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อขอบคุณและเชิดชูผู้ทำงานเพื่อผู้หญิงและการพัฒนาประชากรอย่างรอบด้านอีกด้วย โดยจะประกาศผลในเดือนกันยายนปีนี้” หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประเทศไทยกล่าว