บำบัดจิต-บำรุงกายด้วยสมาธิและพลังจักระทั้ง 7

34573

“ทฤษฏีจักระ” นั้นเกิดขึ้นมายาวนานนับพันปีแล้วในประเทศอินเดีย ในคลาสเรียนโยคะ Hatha Yoga (หฐโยคะ) มีการกล่าวถึงทฤษฎีนี้บ่อยครั้ง “จักระ” ได้ถูกพัฒนาขึ้นในอินเดียเมื่อพันปีก่อน ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ฝึกได้เข้าถึงการหลุดพ้นตามวิถีทั้งแปดเพือให้ผู้ฝึกมีอำนาจเหนือร่างกาย จิตใจ และวิญญาณ จักระจึงเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกโยคะที่ช่วยปรับสมดุลในร่างกายในรูปแบบ “จักระสมาธิ”

วิถีทั้งแปดที่ Hatha Yoga กล่าวถึงได้แก่ วิถีทางแรกคือการทำกายและใจให้บริสุทธิ์ วิถีที่สองคือการออกกำลังกาย วิถีที่สามคือการกักเก็บพลังงานไว้ในฝ่ามือและร่างกาย สี่คือฝึกลมหายใจ ห้าปลดปล่อยตัวเองจากประสาทสัมผัส หกคือการเพ่งสมาธิ เจ็ดฝึกจักระสมาธิ และแปดคือการเข้าถึงตัวตนภายในอันสูงสุด

การเชื่อมโยงพลังงานขั้วบวกและขั้วลบในร่างกายตามคติอินเดียโบราณ

แล้ว “จักระ” คืออะไร?

จักระ เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง กงล้อ จักระคือ ศูนย์รวมพลังงานภายในร่างกายของมนุษย์ หรือ พลังแฝงที่มีอยู่ในทุก ๆ สิ่ง เป็นศูนย์พลังงานอันละเอียดอ่อน (กายละเอียด) ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น จักระ ชี่ ลมปราณ เป็นต้น ในอินเดียนั้น พวกโยคีเชื่อว่า จักระที่สำคัญของมนุษย์ มีอยู่ด้วยกัน 7 ตำแหน่ง ในแต่ละตำแหน่งมีจุดกำเนิดที่แตกต่างกัน และดูแลควบคุมการทำงานของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกายของคนเราให้ทำงานเป็นปรกติ และการหมุนวนของจักระ เกิดจากลมหายใจเข้าออก ที่หมุนเวียนอยู่ในร่างกายตลอดเวลา จักระจะหมุนตามเข็มนาฬิกาด้วยความถี่ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับระบบการทำงานของอวัยวะที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เพื่อให้เกิดความสมดุล

ในปรัชญาฝ่ายโยคะ ขั้วบวกของร่างกายอยู่ตรงกระหม่อม ส่วนขั้วลบอยู่ปลายสุดของกระดูกสันหลัง ตามหลักวิทยาศาสตร์ ขั้วลบจะแล่นขึ้นไปหาขั้วบวก เมื่อใดกระแสไฟฟ้าในร่างกายโคจรได้คล่อง ร่างกายและจิตย่อมสมบูรณ์สุด  พลังขั้วลบจะแล่นขึ้นผ่านตำแหน่งสำคัญ ๆ ในร่างกาย คือ จักระต่าง ๆ ใช้สัญญลักษณ์เป็นดอกบัวทั้งเจ็ดจุด  อันประกอบไปด้วย

จักระที่ 1 Root Chakra – Honors the earth  เป็นรากฐานของระบบจักระ และเป็นพื้นฐานของพลังชีวิต ชื่อทางสันสกฤต คือ มูลธาร (Muladhara) ตำแหน่งจะอยู่ตรงปลายสุดของกระดูกสันหลัง มีสัญญลักษณ์เป็นดอกบัวสี่กลีบ สีที่สัมพันธ์กันคือสีแดง เครือข่ายทางกายภาพของระบบ(Pelvic Plexus) คือ ต่อมลูกหมาก เพศ ระบบขับถ่าย มีคุณสมบัติ คือ ความไร้เดียงสา ความบริสุทธิ์ ความเป็นธรรมชาติ

จักระที่ 2 Sacral – Honors the creative เป็นศูนย์กลางเกี่ยวกับพลังงานทางเพศและความเชื่อมั่นในตนเอง ชื่อสันสกฤต คือ สวาธิษฐาน (Svadhisthana)  ตำแหน่งจะอยู่เหนืออวัยวะเพศ ต่ำกว่าหน้าท้องประมาณสองนิ้ว สัญญลักษณ์เป็นดอกบัวหกกลีบ สีที่สัมพันธ์กันคือ สีส้ม เครือข่ายทางกายภาพของระบบ (Aortic Plexus) คือ  ตับบางส่วน ไต ม้าม ตับอ่อน มดลูก มีคุณสมบัติ  คือ การสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจ สุนทรีย์ การรับรู้ที่ชาญฉลาด

จักระที่ 3 Solar plexus – Honors the life force เป็นจุดศูนย์กลางของร่างกาย ควบคุมระบบทางเดินอาหารทั้งหมด ทั้งการย่อยอาหารและการขับถ่ายของเสียชื่อสันสกฤต คือ มณีปุระ (Manipura) อยู่ตรงไขสันหลังตรงจุดสะดือ สัญญลักษณ์เป็นดอกบัวสิบกลีบ  สีที่สัมพันธ์กันคือ สีเหลือง  เครือข่ายทางกายภาพของระบบ ( Solar Plexus) คือ กระเพาะอาหาร ตับบางส่วน มีคุณสมบัติ คือ กายภาพ รูปธรรมและจิตวิญญาณ ความพอใจ ความใจกว้าง มีศีลธรรม

จักระที่ 4   Heart – Honors the heart  เป็นศูนย์รวมของความรักที่แท้จริง ความเมตตากรุณา ความเสียสละ ชื่อสันสกฤต คือ อนาหตะ (Anahata) ตำแหน่งอยู่ตรงหัวใจ สัญญลักษณ์เป็นดอกบัวสิบสองกลีบ สีที่สัมพันธ์กันคือ  สีเขียว เครือข่ายทางกายภาพของระบบ (Cardiac Plexus) คือ หัวใจ การหายใจ มีคุณสมบัติ  ที่เกี่ยวข้องกับความรัก ความร่าเริง

จักระที่ 5 Throat – Honors the communication เป็นจักระที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจชื่อสันสกฤต คือ วิสุทธิ (Vishuddhi) อยู่ตรงต่อมไธรอยด์ สัญญลักษณ์เป็นดอกบัวสิบหกกลีบ  สีที่สัมพันธ์กันคือสีนำ้เงิน เครือข่ายทางกายภาพของระบบ ( Cervical Plexus) คือ  ต่อมไทรอยด์ คอ แขน ปาก ลิ้น หน้า มือ ไหล่ มีคุณสมบัติ เกี่ยวข้องกับจิตสำนึกของการรวมกลุ่ม ความอ่อนหวาน   ความสุขุม ความไม่ก้าวร้าว การสื่อสารที่ดี

จักระที่ 6 Third Eye – Honors the psychic เป็นจักระที่เปรียบเหมือนดวงตาแห่งปัญญาชื่อสันสกฤต คือ อาชญะ (Ajna) ตั้งอยู่ตรงกลางหน้าผาก สัญญลักษณ์เป็นดอกบัวสองกลีบ สีที่สัมพันธ์กันคือสีคราม เครือข่ายทางกายภาพของระบบ คือ ต่อม pineal & pituitary การมองเห็น การได้ยิน ความคิด ความมีเงื่อนไข มีคุณสมบัติ เกี่ยวกับการให้อภัย ควบคุมอัตตา (ego) และความมีเงื่อนไข (super ego)

จักระที่ 7 Crown – Honors spiritual เป็นศูนย์กลางควบคุมทุกจักระในร่างกาย เป็นจุดรับพลังจักรวาลและกระจายไปทั่วร่างกายชื่อสันสกฤต คือ  สหัสราระ( Sahasrara)  ตำแหน่งสูงสุดกลางกระหม่อม สัญญลักษณ์เป็นดอกบัวพันกลีบ  สีที่สัมพันธ์กันคือสีม่วง เครือข่ายทางกายภาพของระบบ (Limbic Areas) คือ สมองส่วนกลาง มีคุณสมบัติ  เกี่ยวกับการตระหนักรู้ในตนเอง

จักระทั้ง 7 และรูปลักษณ์ดอกบัวในจุดต่างๆ ของร่างกาย

การฝึก “จักระสมาธิ” ให้อะไร?

ดังนั้นการฝึกจักระสมาธิ จึงเป็นการฝึกเพื่อให้ได้สัมผัสกับพลังงานที่ไหลเวียนอยู่ภายในร่างกายด้วยประสบการณ์โดยตรง มิใช่การมองจักระเป็นเรื่องทางปรัชญาหรือจิตวิญญาณเท่านั้น การฝึกสมาธิเพื่อสัมผัสกับพลังงานภายในจะทำให้ผู้ฝึกรู้ว่าพลังงานจุดไหนที่อ่อนแอ จักระตรงไหนที่ถูกปิดกั้นอยู่ การฝึกจักระสมาธิจึงเท่ากับช่วยแก้ปัญหาบกพร่องในร่างกายเรานั่นเอง

วิธีการฝึกจะนั่งสมาธิ ผู้ฝึกต้องเพ่งสมาธิไปยังจุดกำเนิดพลังทั้งเจ็ดและจินตนาการให้เป็นเช่นดอกบัว ซึ่งในวัฒนธรรมอินเดีย จักระมีรูปลักษณ์เป็นดอกบัวที่หมายถึงพลัง และมีจำนวนกลีบดอกในแต่ละจุดของร่างกายต่างจำนวนกันไป จักระสมาธิคือการเพ่งสมาธิไล่ไปยังจุดต่างๆ ของจักระทั้ง 7

การฝึกจักระสมาธิไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาร่างกาย จิตใจ และปัญญาเท่านั้น แต่ยังช่วยปรับสมดุลอารมณ์ จิตวิญญาณ และการมองโลกรอบตัวอีกด้วย ผู้ที่สนใจก็ลองฝึกฝนเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง หรือหากอยากฝึกแบบเจาะลึกจริงจังก็มีสถานฝึกหฐโยคะมากมายหลายแห่งในเมืองไทย…นี่คืออีกหนึ่งทางเลือกของการบำบัดจิต-บำรุงกายที่น่าสนใจอีกแขนงหนึ่ง