30 ปีแห่งความก้าวหน้าด้านประชากร ผลักดันข้อเสนอแนะพาประเทศไทยไปข้างหน้า

13

UNFPA เปิดตัวรายงาน ICPD30 ประเทศไทย: 30 ปีแห่งความก้าวหน้าด้านประชากรและการพัฒนาที่ยั่งยืน ผนึกกำลังภาคีผลักดันข้อเสนอแนะพาประเทศไทยไปข้างหน้า

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDC) และภาคี จัดการประชุมเปิดตัว “รายงาน ICPD30 ของประเทศไทย: 30 ปีแห่งความก้าวหน้าด้านประชากรและการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย ดร. จูลิตตา โอนาบันโจ ผู้อำนวยการกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำมาเลเซีย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และกล่าวเปิดงานร่วมโดย นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 120 ราย จากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ สถาบันการศึกษา และองค์กรเยาวชน โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กระทรวงการต่างประเทศ, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง และ UNFPA ประเทศไทย

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตัวและนำเสนอรายงาน ICPD30 ของประเทศไทย โดยนำเสนอความก้าวหน้าของประเทศไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาตามวาระการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา (International Conference on Population and Development – ICPD) นอกจากนี้ การเปิดตัวรายงานฯ ในครั้งนี้ยังมีขึ้นเพื่อแบ่งปันข้อค้นพบที่สำคัญจากรายงานให้ผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมอภิปราย เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้กำหนดนโยบาย และสาธารณชนทั่วไป ให้เข้าใจการเปลี่ยนทางประชากรของประเทศไทยในอนาคต และเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเป็นแนวทางในการพัฒนาประชากรและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไปในอนาคต ข้อเสนอแนะสำคัญจากรายงานฉบับนี้ อาทิ การส่งเสริมนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม การส่งเสริมความร่วมมือระดับชุมชน การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ การส่งเสริมฐานข้อมูล ทั้งการเก็บข้อมูลและการติดตามผล เป็นต้น

นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประเทศไทย กล่าวว่า ที่มาของงานในวันนี้คือถอดบทเรียนของประเทศไทยจาก 30 ปี หลังจากการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา (ICPD) ในปี ค.ศ. 1944 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมด้านประชากรและการพัฒนาทั่วโลก เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างพลวัตของประชากร สุขภาพทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ ความเท่าเทียมทางเพศ และการพัฒนาชีวิตตลอดทุกช่วงวัยเพื่อจัดการการเข้าสู่สังคมสูงวัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ICPD ซึ่งมีส่วนร่วมอย่างมากในการพัฒนาประชากรและการพัฒนาที่มีความยั่งยืน ผ่านกระบวนการทำงานแบบการพัฒนาชีวิตทุกช่วงวัย โดยปี พ.ศ. 2567 หรือ ค.ศ.2024 นี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปีของ ICPD ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลและภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมกันเฉลิมฉลองความก้าวหน้าของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งยังเน้นย้ำถึงภารกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้นของ ICPD และแสวงหาแนวทางแก้ไข รวมถึงความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตามยุคสมัย

“ความสำเร็จของประเทศไทยที่รายงาน ICPD30 ค้นพบมีหลายเรื่อง เรื่องแรก คือ ความก้าวหน้าด้านสิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการรับรองการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างทั่วถึง มีการบูรณาการเรื่องนี้เข้ากับการประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการวางแผนครอบครัวและป้องกันการเสียชีวิตของมารดา ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาลงให้เหลือ 15 ต่อ 1 แสน ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เรื่องที่สอง คือ ความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ประเทศไทยได้จัดตั้งระบบสนับสนุนที่ครอบคลุม มีการริเริ่มเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศ เพื่อให้แน่ใจว่าสตรีและเด็กผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้ ในขณะเดียวกันการมีส่วนร่วมของชุมชนก็มีบทบาทสำคัญ โดยมีหน่วยงานเฉพาะกิจในท้องถิ่นและองค์กรภาคประชาสังคมที่เข้ามาเสริมความพยายามของภาครัฐ และเรื่องที่สาม คือ ความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างศักยภาพเยาวชน ประเทศไทยมีกฎหมายต่าง ๆ ที่มุ่งลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและเสริมสร้างการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามนโยบายอีกด้วย” นางสาวสิริลักษณ์ กล่าว

นางสาวสิริลักษณ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า รายงาน ICPD30 นั้นพบข้อท้าทายและช่องว่างที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยต้องแก้ไข ได้แก่ การดูแลประชากรกลุ่มเปราะบาง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม และการตีตราทางวัฒนธรรมและการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์ด้วยว่า ประเทศไทยควรสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจที่ทั่วถึง หรือที่เรียกว่า Inclusive Economic Policies เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการเข้าถึงบริการสุขภาพ ยกระดับการเก็บรวบรวมและติดตามข้อมูลเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศต่อไปทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ดร. จูลิตตา โอนาบันโจ ผู้อำนวยการกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยและผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำมาเลเซีย กล่าวว่า นับตั้งแต่การประชุมครั้งประวัติศาสตร์ในปี ค.ศ. 1994 จนถึงวันนี้ พันธสัญญาของเราที่มีต่อโลกก็ยังคงมั่นคง นั่นก็คือ สิทธิ ศักดิ์ศรี และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน พันธสัญญานี้ถูกผนึกไว้ในวิสัยทัศน์การเปลี่ยนแปลงของ ICPD ซึ่งกำหนดเป้าหมายสามศูนย์ที่ต้องบรรลุให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 ได้แก่ หนึ่ง ความต้องการการวางแผนครอบครัวที่ไม่ได้รับการตอบสนอง ต้องเป็นศูนย์ สอง การเสียชีวิตของมารดาที่ป้องกันได้ ต้องเป็นศูนย์ และสาม ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและการปฏิบัติที่เป็นอันตรายต่อผู้หญิง ต้องเป็นศูนย์ โดยการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ต้องอาศัยความพยายามร่วมกัน เจตจำนงทางการเมือง และกระบวนการนโยบายที่มีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง

ดร.จูลิตตา กล่าวด้วยว่า รายงานฉบับนี้บันทึกประสบการณ์ของประเทศไทยกับความท้าทายด้านประชากรและการพัฒนาที่หลากหลาย รวมทั้งวิเคราะห์อย่างละเอียดเกี่ยวกับภูมิทัศน์ประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้น ประเทศไทยได้นำแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยที่ครอบคลุม (Comprehensive Life-Cycle Approach) มาใช้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนประชาชนในทุกช่วงชีวิตผ่านนโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน โดยแนวคิดนี้มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างการประสานงานระหว่างภาคส่วน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนระดับรากหญ้า และพัฒนาวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เมื่อมองไปข้างหน้า รายงานฉบับนี้ถือเป็นการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตัดสินใจดำเนินการเพื่อขยายอายุความมุ่งมั่นต่อวาระ ICPD และหลักการสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และความยั่งยืน เราต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ร่วมมือกัน และดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อไปเพื่อสร้างอนาคตที่ทุกคนมีโอกาสที่จะเติบโต เรามาใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาและความทุ่มเทร่วมกัน หากเราทำงานร่วมกันไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาสังคม ผู้นำเยาวชน และพันธมิตรระหว่างประเทศ เราก็จะสามารถเอาชนะความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าได้ และบรรลุวิสัยทัศน์ของเราในการสร้างประเทศไทยที่มีความยืดหยุ่นปรับตัวและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ดร.จูลิตตา กล่าว

ด้าน นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าที่น่าจดจำในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราการเสียชีวิตของมารดา การยกระดับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศที่มากขึ้นและการขยายโอกาสสำหรับทุกคน การบรรลุผลเหล่านี้ถือเป็นหลักไมล์สำคัญที่ไม่เพียงแต่เป็นความสำเร็จที่น่าเฉลิมฉลองเท่านั้น แต่ยังเป็นรากฐานที่ต้องสร้างขึ้นสำหรับอนาคตอีกด้วย

นางสาววรวรรณ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา เราได้เห็นประเทศของเราก้าวไปข้างหน้า นโยบายต่าง ๆ ถูกพัฒนาขึ้น มีกลยุทธ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาวฉบับแรก นโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากรของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่างนโยบายส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพกระทรวงสาธารณสุข นอกจากแรงผลักดันทางนโยบายแล้ว เรายังได้พลังจากความพยายามในระดับรากหญ้าโดยมีสมาชิกชุมชนทำหน้าที่บูรณาการ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหัวหอกในการใช้แนวทางการทำงานโดยมีชุมชนเป็นผู้นำ กระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในท้องถิ่นระดมทรัพยากรจากหลายภาคส่วนเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ดี ข้อค้นพบในรายงานฉบับนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่าเราต้องมองไปให้ไกลกว่าความสำเร็จในปัจจุบันและเผชิญกับความเป็นจริงที่อยู่ข้างหน้า

“เราต้องเปลี่ยนแปลงเส้นทางเพื่ออนาคต เราต้องขยายโมเดลท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จให้กลายเป็นการปฏิรูประดับประเทศ ทำให้แน่ใจว่าประเทศและชุมชนของเราพร้อมที่จะเติบโตก้าวหน้าในสังคมผู้สูงอายุที่ใกล้จะมาถึงและโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราต้องลงทุนในประชาชนของเราซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการการันตีว่าระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การดูแลสุขภาพ และการคุ้มครองทางสังคมมีความครอบคลุมและเท่าเทียมกัน จากนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและวิธีแก้ปัญหาเฉพาะที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการที่หลากหลายของแต่ละกลุ่ม” นางสาววรวรรณ กล่าว

ส่วน นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จหลายด้านในการจัดการและพัฒนาประชากร ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา และการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยความสำเร็จเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เราภูมิใจในความก้าวหน้าที่ได้ทำมา ต้องไม่ลืมถึงความท้าทายใหม่ ๆ ที่ต้องเผชิญ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร สังคมผู้สูงอายุ และความเหลื่อมล้ำที่ยังคงมีอยู่

“เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติเด็กเกิดน้อย จำนวนการเกิดของเด็กไทยลดลงมาก จากเดิมมีการเกิดมากกว่าปีละ 1 ล้านคน แต่ในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีจำนวนการเกิดเหลือเพียง 485,085 คน ในขณะที่มีจำนวนการตายมากถึง 584,854 คน และอัตราเจริญพันธุ์รวมหรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของหญิงวัยเจริญพันธุ์ลดลงจาก 6 คน เหลือเพียง 1.08 คน ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทนประชากร โดยการลดลงนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศเอเชียตะวันออกหลายประเทศ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรอย่างมาก โดยคาดการณ์ว่าหากประเทศไทยยังไม่มีมาตรการใดออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการเกิดที่ลดลงนี้ อีก 60 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรของไทยจะลดลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 33 ล้านคน วัยทำงานลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน และเด็กอายุ 0 – 14 ปี ลดลงเหลือเพียง 1 ล้านคน” นายแพทย์เอกชัย กล่าว

นายแพทย์เอกชัย อธิบายด้วยว่า สาเหตุของโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปมาจากหลายปัจจัย อาทิ ความสำเร็จของการขับเคลื่อนนโยบายวางแผนครอบครัวมาอย่างยาวนาน ทำให้ครอบครัวส่วนใหญ่ยังคงวางแผนมีบุตรไม่เกินครอบครัวละ 2 คน การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาทำให้เกิดการย้ายถิ่นไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ทำให้ระดับมาตรฐานการครองชีพ อัตราค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตรสูงขึ้น ประกอบกับผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น มีอัตราส่วนของแรงงานเพศหญิงเพิ่มขึ้น การใช้ชีวิตคู่และการมีบุตรไม่ใช่เป้าหมายของชีวิตเหมือนในอดีต

“เราจึงต้องเตรียมพร้อมและร่วมกันพัฒนานโยบายที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ รายงาน ICPD30 เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่มีคุณค่าในการช่วยให้เราเข้าใจถึงความท้าทายและโอกาสที่อยู่เบื้องหน้า ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถวางแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวได้อย่างรอบคอบต่อไป” นายแพทย์เอกชัย กล่าว