BEDO จัดการประชุมเปิดตัวโครงการฯ จากงบประมาณ บพข.

20

BEDO จัดการประชุมเปิดตัวโครงการฯ ภายใต้การได้รับสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารจัดการต้นทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และเยี่ยมชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรชีวภาพ

นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ พร้อมด้วย ดร.ธนิต ชังถาวร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ BEDO ให้การต้อนรับ คณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ และนางรัตนา เล็งศิริวัฒน์ เข้าร่วมการประชุมเปิดตัวโครงการ “การพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสารสกัดสมุนไพรและเวชสำอางธรรมชาติสำหรับบำรุงผมของวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน” ภายใต้การได้รับสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารจัดการต้นทุนด้านการเพิ่มความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกัน 3 ฝ่ายได้แก่ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยนเรศวร และวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน

ในการประชุมวันที่ 16 ธันวาคม 2567 นายชูศิลป์ สารรัตนะ ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ พร้อมด้วย นางสาวศิรินันท์ สารมณฐี ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนฯ กล่าวต้อนรับและนำเสนอความเป็นมาของวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน จังหวัดน่าน และ ผศ.ดร.ภญ.จิรา จงเจริญกมล หัวหน้าโครงการ มหาวิทยาลัยนเรศวร และผศ.ดร.ภญ.ประภาพรรณ เต็มกิจถาวร นักวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอรายละเอียดและความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการฯ

จากนั้นผู้แทนวิสาหกิจชุมชนฯ นำคณะกรรมการและผู้บริหาร BEDO เยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องสำอาง และสารสกัดสมุนไพร รวมถึงพื้นที่แปลงปลูกสมุนไพร ต่อมา คณะกรรมการ และคณะผู้บริหาร BEDO เยี่ยมชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรชีวภาพ ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปมะไฟจีนบ้านกอก จังหวัดน่าน เพื่อร่วมรับฟังการเสนอผลการดำเนินงานของโครงการ Community Biobank ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการกับ BEDO ตั้งแต่ปี 2564 โดย นางสาวณัฐฐิญา กงภูธร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและจัดการองค์ความรู้ นำเสนอรายละเอียดโครงการฯ และนายธีระยุทธ จันทร์คล้าย รองประธานวิสาหกิจชุมชนฯ นำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ Community Biobank อาทิ การจำแนกสายพันธุ์ทรัพยากรชีวภาพมะไฟจีน การใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพมะไฟจีน การบริหารจัดการรักษาทรัพยากรชีวภาพมะไฟจีน พร้อมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากมะไฟจีน

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน คณะกรรมการ และคณะผู้บริหาร BEDO เดินทางไปยัง Originan space พื้นที่สำหรับการเรียนรู้ และบริการชุมชนคนน่าน เพื่อรับฟังการบรรยายการดำเนินงานคลัสเตอร์เครือข่ายเกษตรแปรรูปน่านอะโกร Originan ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้ประกอบการเกษตรแปรรูปน่านรวมตัวกันเพื่อส่งเสริมการใช้วัตถุดิบ ผลผลิตทางการเกษตรน่านแปรรูปเพิ่มมูลค่า สร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้ชุมชนในจังหวัดน่านโดยดำเนินธุรกิจเกษตรเกื้อกูลเพื่อความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ใช้วัตถุดิบจากน่าน ผลิตโดยคนน่าน สร้างรายได้ให้กับคนน่าน ส่งเสริมเศรษฐกิจน่านให้ยั่งยืน” โดยประธานคลัสเตอร์และคณะกรรมการคลัสเตอร์ฯ ให้การต้อนรับและนำเสนอผลการดำเนินงาน และนำชมร้านบ้านถั่วลิสง ร้านจำหน่ายสินค้าชุมชนในจังหวัดน่าน

ต่อมาในวันที่ 17 ธันวาคม 2567 นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ BEDO พร้อมด้วย ดร.ธนิต ชังถาวร ที่ปรึกษา BEDO คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ BEDO พาคณะกรรมการ BEDO ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ และ นางรัตนา เล็งศิริวัฒน์ เยี่ยมชมการดำเนินงานเยี่ยมชมการดำเนินงานต่อยอดโครงการเห็ดไมคอร์ไรซา ณ วิสาหกิจชุมชนผลิตหัวเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาและพืชเศรษฐกิจ บ้านบุญแจ่ม ตำบลน้ำเลา อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ โดยมี นายจิรพัฒน์ แจ่มรัตนโสภิณ ประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านบุญแจ่ม นายนพพร มิ่งสุวรรณ ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ และสมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ ให้การต้อนรับ และพาเยี่ยมชมแปลงต้นแบบการปลูกพืชแบบวนเกษตรอินทรีย์ร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา

จากนั้นรับฟังการบรรยายสรุปผลการวิจัยและขยายองค์ความรู้ การปลูกไม้มีค่าและพืชเศรษฐกิจ ร่วมกับเห็ดไมคอร์ไรซาครบวงจร โดย ดร.สุจิตรา โกศล ประธานมูลนิธิเห็ดไมคอร์ไรซาเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ผศ.ดร.วรรณา มังกิตะ รองประธานมูลนิธิฯ และ BEDO ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หรือมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่เฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อศึกษาต้นแบบการนำเทคโนโลยีการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซาแบบจำลองธรรมชาติมาส่งเสริมให้ชุมชนปลุกและดูแลต้นไม้ที่จูงใจด้วยการใส่เชื้อเห็ดป่าไมคอร์ไรซาที่ช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตและมีผลผลิตเป็นเห็ดช่วยสร้างรายได้สู่ครอบครัวและชุมชน อันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน