ณ กรมพัฒนาที่ดิน กรุงเทพมหานคร- สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI เดินหน้าขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม ผสานกำลังสมาคมดินโลก กรมพัฒนาที่ดิน มูลนิธิดั่งพ่อสอน และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน หลังพบปัจจุบันดินประสบกับสภาวะความเสื่อมโทรมจากปัจจัยต่าง ๆ พร้อมมุ่งหวังการผสานกำลังครั้งนี้คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินอย่างชาญฉลาด รักษาคุณภาพดินเพื่อให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ยั่งยืนต่อไป
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า “ดินเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตนอกจากเป็นแหล่งของความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารกว่า 95% แล้ว ยังเป็นปัจจัยพื้นฐานของการสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม แต่ในปัจจุบันดินกว่า 33% ประสบกับสภาวะความเสื่อมโทรม ไม่สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของจำนวนประชากรโลกได้ รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัยที่รุกล้ำพื้นที่เกษตรซึ่งดินที่เสื่อมโทรมส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เกษตร โดยดินเสื่อมโทรมไม่ได้เกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติเท่านั้น แต่การขาดความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากดินอย่างถูกต้อง ก็เป็นเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องนี้ที่ทั้ง 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมดูแลรักษาและฟื้นฟูสุขภาพดินให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ยั่งยืน เพื่อรักษาคุณภาพดินให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต”
ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า “ดินเป็นจุดเริ่มต้นของปัจจัยสี่เพื่อการดำรงชีพของมนุษย์ และสรรพสิ่งต่างๆ การอยู่รอดของมวลมนุษย์จึงต้องพึ่งพาและรักษาดิน เพราะดินเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพหลักของโลก สิ่งมีชีวิตทั้งคนและสัตว์ส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับดิน และดินดีที่จะมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตช่วยสร้างสารอาหารสำหรับพืชและสามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ รวมทั้งดินยังมีคุณประโยชน์อีกมากมาย ดังนั้นสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI มีบทบาทในการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และได้ทำงานร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ประชาสังคม ในการขับเคลื่อนงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมิติเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเป็นไปตามเป้าหมายของประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ควบคู่ไปกับการควบคุมมลพิษ และอนุรักษ์ใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ดังนั้นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ก็คือการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติซึ่งทางTEI ได้ดำเนินการโครงการ
ร่วมกับภาคีเครือข่ายมากมายๆ ในการมีส่วนร่วมดูแลและรักษาทรัพยากรดิน อาทิ โครงการ Urban Resilience Building and Nature ที่ศึกษาและวางแผนออกแบบเมืองสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยอาศัยธรรมชาติเป็นฐาน หรือ Natured-based Solutions (NbS) กิจกรรมเวียนเทียนต้นไม้ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา การฟื้นฟูป่าชายเลน การป้องกันและลดฝุ่นPM2.5 ผ่านการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและรณรงค์การลดเผา เพื่ออนุรักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของดิน เป็นต้น และทุกโครงการ กิจกรรม TEI ให้ความสำคัญในการดูแลรักษาปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในดิน ตลอดมา”
ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์นายกสมาคมดินโลก ให้ความเห็นว่า “การจับมือของหลายหน่วยงานในครั้งนี้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs17 ที่เกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรหลักขณะเดียวกันบอกว่าถึงเวลาที่ทั่วโลกจะให้ความสำคัญในการปรับปรุงสุขภาพดิน ทั้งการเอาใจใส่ดูแล เฝ้าติดตาม และจัดการทรัพยากรดินให้กลับมาสมบูรณ์ พร้อมย้ำว่าหลังจากนี้คือทศวรรษแห่งสุขภาพดิน ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพดินต่อความมั่นคงทางด้านอาหารและโภชนาการ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน และพัฒนาสุขภาพดินให้เป็นแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน พร้อมเชื่อมั่นว่าทุกองค์กรที่ลงนามในครั้งนี้มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนในการดูแลและรักษาทรัพยากรดิน”
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้บริหาร 5 หน่วยงานร่วมพิธีลงนาม ประกอบด้วย นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน นายณัฐวรรธน์ ภรนรา ประธานมูลนิธิดั่งพ่อสอน นายต่อวงศ์ ปุ้ยพันธวงศ์ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ และสนับสนุน ด้านการจัดการดินและที่ดินในระบบการผลิตเพื่อการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน และสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อมูล และองค์ความรู้ในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตร การจัดการคุณภาพดิน เพื่อให้ชุมชน เกษตรกร และเครือข่ายมีความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารในภาวะวิกฤติ พร้อมส่งเสริมการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวันดินโลกและแนวพระราชดำริด้านการจัดการดินอย่างยั่งยืน ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผ่านกิจกรรวันดินโลก กิจกรรมด้านวิชาการ ศิลปะแก่ภาครัฐ เอกชน เยาวชน เกษตรกร และประชาชนทั่วไป รวมถึงการนำศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหา วชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นแนวทางในการปฏิบัติและช่วยเหลือโดยการถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรแก่ประชาชนในพื้นที่ทั่วไป หรือในเขตทุรกันดารเพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ 5 หน่วยงานมุ่งหวังว่าการผสานกำลังในครั้งนี้คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรดินอย่างชาญฉลาด รักษาคุณภาพทรัพยากรดินให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป และเกิดความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต เพราะการดูแลรักษาและฟื้นฟูสุขภาพดินไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของภาคส่วนใด ภาคส่วนหนึ่งแต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคน