เมียมือตบพยาบาล เปิดใจครั้งแรก! เกิดอะไรขึ้น ทำไมสามีทำรุนแรง พยาบาลที่ถูกตบแจง พูดเสียงดังเพื่อปราม เครียด จิตตก ร้องไห้

6

กรณีเหตุการณ์ชายรายหนึ่งบุกตบหน้าพยาบาลถึง 2 ครั้งในโรงพยาบาลระยอง สาเหตุไม่พอใจที่พยาบาลเตือนภรรยา ให้พาลูกเล็กออกไปจากห้องผู้ป่วยไอซียู เนื่องจากผู้ป่วยโคม่า ปอดติดเชื้อ หวั่นเด็กจะติดเชื้อไปด้วย ภายหลังภรรยาและลูกกลับไปเล่าให้สามีฟัง เจ้าตัวจึงกลับเข้ามาอีกครั้ง ถามว่าใครพูดไม่ดีกับภรรยา ก่อนก่อเหตุทำร้ายพยาบาล

รายการ โหนกระแส วันที่ 19 ก.พ. 68 ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดหมายเลข 33 สัมภาษณ์ สา (นามสมมติ) พยาบาลที่อยู่ตรงจุดเกิดเหตุ , สาว (นามสมมติ) พยาบาลที่เตือนไป 1 ครั้ง, เอ (นามสมมติ) หัวหน้าพยาบาล, แอน หน้าวอร์ดไอซียู, พี่สาวของปราย พยาบาลที่ถูกทำร้าย , นพ.ภูษิต ทรัพย์สมพล ผอ.รพ. ระยอง , ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข , นพ.สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สารธารณสุขจังหวัดระยอง

เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มั้ย?

สา : ไม่เคยเจอค่ะ (เสียงสั่น)

สาว : ไม่เคยค่ะ ทำงานมานานไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้เลย มีการพูดคุย กันมากกว่า ไม่มีการทำร้ายแบบนี้ค่ะ

น้องคือคนแรกที่ยืนคุย วันนั้นเกิดอะไรขึ้น?

สา : ก่อนหน้านี้ญาติที่เป็นผู้ชายเข้ามาเยี่ยมคนไข้ปกติ ยืนอยู่หน้าห้อง คนไข้เป็นแม่ยายคนที่ตบค่ะ หนูก็เห็นว่าเขายืนเยี่ยมปกติ สักพักเขาหยิบแมสก์ N95 เหมือนจะเข้าไปในห้อง หนูก็บอกว่าญาติคะ เยี่ยมในห้องแยกไม่ได้นะคะ เพราะเป็นคนไข้ติดเชื้อ เขาก็หันมาถามหนูว่าอ๋อ เข้าไปเยี่ยมข้างในไม่ได้ใช่มั้ยครับ

เราเตือนเขาก็ฟัง?

สา : ใช่ค่ะ หนูรายงานอาการคนไข้ให้หมอทราบ เดินไปดูแผนการรักษา ญาติก็เดินมาที่เคาน์เตอร์พยาบาล หนูก็บอกว่าเข้ามาไม่ได้นะคะ เชิญยืนรอด้านนอกก่อนนะคะ

จริงๆ ตรงนี้เข้ามาได้มั้ย?

สาว : ปกติไม่ให้ญาติเข้าค่ะ เป็นจุดพยาบาลทำงาน อันนี้เป็นครั้งที่สองที่เขาเข้ามา ครั้งแรกเจอสาวก่อน เป็นเวลาเยี่ยมประมาณ 6 โมงเย็น ที่ญาติจะเข้าเยี่ยมไอซียูได้

ธนกฤต : คนไข้รีเฟอร์มาจากรพ.อื่น ด้วยอาการของคนที่เป็นไข้หวัดสายพันธุ์เอ เป็นเรื่องโรคติดต่อ ถึงมาที่รพ.ระยอง พอมาถึงที่นี่ ระหว่างมีตรงนี้ เพิ่งมาได้ไม่ถึง 2 ชม.เอง พยาบาลกำลังเตรียมคนไข้ด้วย หลังจากนั้นค่อยมาในกระบวนการที่ญาติถึงตามเข้ามา พยาบาลต้องเตือนเพราะคนไข้ที่เข้ามาในภาวะติดเชื้อได้ง่ายและเป็นโรคติดต่อ

ญาติเจอคุณสาวก่อน เป็นยังไง?

สาว : คนไข้มาประมาณ 3 โมง เวรเช้าเขารับคนไข้เรียบร้อยแล้ว สาวมาช่วงเวรบ่าย เป็นช่วงเวลาเยี่ยมหกโมงเย็น ผู้ชายก่อเหตุเขามากับลูก สาวเห็นเขาเอาเด็กมาด้วย ก็เลยแจ้งไปว่า ญาติคะ ไม่ควรนำเด็กเข้ามานะคะ คนไข้เป็นคนไข้ติดเชื้อ เดี๋ยวจะติดเด็กได้ ถ้าเป็นไปได้ควรฝากไว้กับญาติคนอื่นก่อนแล้วค่อยเข้ามาเยี่ยม คุณผู้ชายบอกว่ายายติดมาจากลูกชายนี่แหละ คิดว่าคงไม่ติดลูกเขาแล้ว สาวก็เลยบอกว่าโอเค งั้นไม่เป็นไร ตอนนี้ยังเยี่ยมไม่ได้ พยาบาลยังเช็ดตัวคนไข้ เปลี่ยนเสื้อผ้าให้ ให้ไปรอข้างนอกก่อน อีกอย่างในไอซียูมีคนไข้ติดเชื้อดื้อยาเยอะ ก็ไม่ควรพาเด็กเข้ามา ตอนนั้นเขาก็ยังหัวเราะ และพาลูกเขาออกไป ไม่มีอะไรค่ะ

รอบที่สองเขาเข้ามาอีก?

สาว : รอบที่สองเป็นภรรยาเข้ามา หลังจากให้รอสักพักนึง ภรรยาพาลูกอีกคนเข้ามา ตอนนั้นผู้ชายไม่ได้มา ภรรยาเขาพาเด็กมาคนเดียว ญาติพาไปหน้าห้องที่เป็นห้องแยกคุณแม่เขานี่แหละค่ะ แล้วน้องที่โดนทำร้าย เขากำลังเปลี่ยนเสื้อผ้า เช็ดตัวให้คนไข้อยู่ เขาเลยเปิดประตูห้องถอดแมสก์เพื่อแจ้งญาติว่าไม่ควรพาเด็กมานะคะ

คนแจ้งเป็นใคร?

สาว : น้องปรายที่ถูกทำร้ายค่ะ

จากนั้น?

สาว : ผู้หญิงก็พาลูกเขาเดินออกจากห้องไป ณ ขณะนั้นทุกคนกำลังทำงานกันอยู่ ก็มีผู้ชายเข้ามารอบที่ 3 เข้ามาคนเดียว

มีการเตือนไปแล้ว 2 ครั้ง น้ำเสียงที่เตือนเป็นยังไง?

สาว : อย่างนี้เลยค่ะ ญาติคะ ไม่ควรพาเด็กเข้ามานะคะ

ไม่ได้เสียงดังรุนแรง?

สาว : ไม่ค่ะ

ตอนผู้หญิงเข้ามากับลูก คุณปรายบอกว่าพาเด็กเข้ามาไม่ได้ น้ำเสียงคุณปรายเป็นยังไง?

สาว : ตอนนั้นไม่ได้ยิน เพราะต่างคนต่างให้การพยาบาลอยู่ในห้องคนไข้

ครั้งที่สาม คุณผู้ชายเดินเข้ามาก็ยังไม่มีเรื่อง เจอน้อง ถามน้องว่าจะเข้าไปเยี่ยม น้องบอกเข้าไปไม่ได้เพราะเป็นห้องปลอดเชื้อ เขากลับออกไปมั้ย?

สา : ไม่ค่ะ แล้วเขาก็เดินเข้ามาตรงเคาน์เตอร์ตามในคลิปเลย หนูก็บอกว่าญาติเดินเข้ามาตรงเคาน์เตอร์พยาบาลไม่ได้นะคะ ให้ยืนรอข้างนอกก่อน ญาติก็ไม่ได้เดินออกไปด้านนอก พี่คนที่โดนกระทำ เขาก็เดินมาบอกซ้ำอีกทีว่าญาติเดินเข้ามาในเคาน์เตอร์ไม่ได้นะคะ ทีนี้เขาก็ถามขึ้นมาเลยว่าเมื่อกี้ใครว่าภรรยาผม พี่คนที่โดนกระทำ ก็บอกว่าเป็นตัวเขาเอง ที่พยักหน้า แล้วก็เป็นตามในคลิปเลย

ธนกฤต : ผมคุยกับน้องปรายที่เป็นพยาบาล พยาบาลพยายามเตือนเรื่องเขาพาเด็กมา ตอนแรกผมนึกถึงปกติทั่วไปว่าคนดุน่าจะเป็นพยาบาลที่มีอายุหน่อย น้องปรายเพิ่งอายุ 26 อุปนิสัยใจคอต้องถามผอ.ว่าเป็นลักษณะแบบไหน ตัวผู้ชายมาถึงถามว่าใครพูดกับภรรยาเขา น้องปรายบอกว่าพยาบาลค่ะ พูดคำเดียว หลังจากนั้นฝ่ามือเข้ากกหูเลยสองครั้ง จะแบ็กแฮนด้วยแต่น้องเขาเซไปแล้ว

สาว : ตอนนั้นสาวก็ได้ยิน ก็ตะโกนออกไปว่าญาติทำไมทำแบบนี้ล่ะคะ พยาบาลกำลังทำงานอยู่นะ ทำไมไม่คุยกันดีๆ เขาก็หันแล้วเดินออกมา

จุดนั้นมี 3 คน พอหลังเขาตบเขาทำยังไง?

สาว : พอหนูตะโกนไปเขาเดินมาหา สาวยังบอกว่าญาติคะ ทำไมมีอะไรไม่คุยดีๆ พยาบาลกำลังทำงานอยู่นะ เขาก็หันมาแล้วบอกว่ามีอะไรก็เรียกคนมาคุยเลย ให้คนมาคุยกัน

หลังมีเหตุการณ์นี้ ก็มีประเด็นแตกไปมากมาย มีสองมุม มุมนึงความรุนแรงแบบนี้ใช้ไม่ได้แน่ๆ กับอีกมุมสังคมบอกว่าหรือพยาบาลพูดไม่ดีกับเขาจริงๆ มันเลยทำให้เขาลุแก่โทสะ แต่ถึงยังไงก็ทำแบบนี้ไม่ได้ มันมีวิธีอื่นเยอะแยะมากมายที่จะจัดการได้ หนึ่งในนั้นทำไมไม่ร้องเรียนล่ะ ปรากฏว่ามีคนเคยร้องเรียนไปแต่กริบ ก็เลยไม่มีมาตรฐานว่าต้องทำยังไงต่อไป บางคนบอกว่ารพ.รัฐบางครั้งบุคลากรทางการแพทย์ใช้น้ำเสียงหงุดหงิดหน่อย วันนั้นข้อเท็จจริงคือมีเด็กไปจริงๆ มีคลิปที่บ่งบอกว่ามีเด็กไป 3 คน?

ธนกฤต : ผมต้องเห็นภาพรวมทั้งหมด ทางสาธารณสุขท่านก็ส่งให้ดูว่าจริงๆ แล้ว ระหว่างนั้นมีภาพของสามีภรรยาคู่นึงเข้ามาพร้อมเด็ก 3 คน ประเด็นสำคัญคือเด็กที่เขาพูดว่าเด็กคนนึงเป็นหวัด แล้วเอามาติดคุณยาย อีกสองคนเป็นหรือเปล่า เข้ามาสองรอบ พยาบาลก็เตือนทั้งสองรอบ น้ำเสียงเป็นยังไงผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่เนื้อหาสาระสำคัญคือเขากำลังเตือนเรื่องความไม่ปลอดภัยเท่านั้นเอง อย่ามองเป็นเรื่องแตกแยกเลย การใช้ความรุนแรงในรพ. เป็นเรื่องไม่ควรเกิดขึ้นเท่านั้นเอง แต่อย่างที่บอกต่อให้พยาบาลพูดจาไม่ดี เขาก็มีขั้นตอนให้ดำเนินการ ถ้าทำไม่ได้หรือผอ.รพ.ไม่ดูแลเรื่องนี้ ร้องเรียนมากระทรวงสาธารณสุข เราก็ดำเนินการทุกครั้งไป

กรณีนี้ห้องไอซียูส่วนใหญ่เขาไม่ให้เด็กเข้าอยู่แล้ว?

เอ : ใช่ค่ะ เพราะมีโอกาสติดเชื้อสูง เพราะเด็กมีภูมิต้านทานต่ำ เรามีข้อห้ามอยู่แล้ว ว่าเด็กไม่ควรเข้าไอซียู กรณีมีผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ เราจะไม่ให้เข้าค่ะ

ตอนเขาพาเด็กไป เข้าได้มั้ย?

ธนกฤต : เขามาตรงเวลาเยี่ยมช่วงเย็นพอดี แต่คุณสาเตือนครั้งที่หนึ่ง

สา : ผู้ชายพาลูกไปแค่คนนึงแล้วยืนรอจะเข้าไอซียู สาก็เลยเตือนว่าไม่ควรนำเด็กเข้ามานะคะ เดี๋ยวเชื้อติดเด็กได้

พอน้องปรายโดนตบ คุณคิดว่าคุณจะโดนด้วยมั้ย?

สาว : ตอนนั้นตกใจ ก็ตะโกนไปก่อนว่าญาติทำไมทำแบบนี้ ทำไมไม่คุยกันดีๆ พยาบาลกำลังทำงานอยู่

ปกติมีคำพูดค่อนข้างรุนแรงกันอยู่แล้วหรือเปล่ากับญาติ?

สาว : ส่วนใหญ่เราแจ้งอาการไป เขาก็ถามอาการว่าตอนนี้เป็นยังไงบ้าง ส่วนใหญ่ก็รับฟัง ถ้ามีอะไรก็ให้คุยกับแพทย์เจ้าของไข้โดยตรงเลย

“น้องปราย” อยู่ในสาย เหตุการณ์เกิดอะไรขึ้น?

ปราย : คนไข้เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ น้องสาวุ่นมากเลย อยู่ข้างนอกห้องคนไข้ เคสของหนูไม่ได้ยุ่งมาก เลยเข้าไปช่วยกับผู้ช่วยเหลือคนไข้อีกหนึ่งคน หนูได้ทำการเจาะเลือดคนไข้ ส่งให้น้องสา ทำการเปลี่ยนเสื้อผ้าให้คนไข้ เพราะตั้งแต่คนไข้มายังไม่ได้รับการเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือเช็ดตัว ระหว่างนั้นก็กั้นม่าน ปิดประตูห้องไว้ ทีนี้พอทำการเปลี่ยนเสื้อผ้า ยังไม่ทันได้เสร็จดี เห็นญาติมายืนอยู่บริเวณหน้าห้อง พร้อมกับเด็กชายหนึ่งคน ญาติเป็นบุตรสาวคนไข้ น้องสาก็เข้ามาให้ยาคนไข้ ก่อนหนูออกมา น้องสาแจ้งหนูว่าพี่ปรายคะ พอดีว่าหนูแจ้งญาติเขาแล้วไม่ให้เอาเด็กเข้ามา เขายังเอาเข้ามาอยู่เลย หนูเลยบอกว่าโอเคได้ เดี๋ยวพี่ไปแจ้งให้ หนูเลยออกไป พูดกับญาติว่า ญาติคะ นำเด็กเข้ามาไม่ได้นะ ให้เขาดูว่าเนี่ย ขนาดคุณแม่คุณเป็นผู้ใหญ่ยังติดหนักเชื้อลงปอดขนาดนี้เลย ถ้าเกิดน้องติด เชื้อลงปอด น้องจะอาการแย่ขนาดไหน ตอนนี้แม่คุณก็อาการไม่ดีนะ ถ้าคุณต้องสูญเสียทั้งสองคนไป คุณรับได้เหรอ ถ้าคุณรับไม่ได้ก็ให้นำเด็กออกไปค่ะ

น้ำเสียงที่พูดคุยกัน น้องพูดลักษณะแบบนี้หรือดังกว่านี้?

ปราย : หนูพูดดังกว่านี้ค่ะ เพราะส่วนตัวหนูคิดว่าถ้าเราได้มีการพูดคุยกันไปแล้วรอบนึง ถ้าจากที่น้องบอกว่าเตือนแล้ว อะไรแล้ว ญาติยังพาน้องเข้ามา เรามองว่าญาติยังขาดความตระหนักรู้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้กับตัวเด็กและคนอื่นที่ติดเชื้อโรคนี้มันร้ายแรงขนาดไหน น้ำเสียงที่ใช้จึงใช้เสียงดังในการเตือนค่ะ

ปกติเตือนเสียงดังกับญาติคนอื่นๆ มั้ย?

ปราย : ส่วนตัวแล้วหนูไม่ใช่คนที่ใช้เสียงดังนะคะ แต่ว่าในเคสนี้ใช้เสียงดังเพราะว่ากลัวน้องจะติดโรคไปด้วย จังหวะนั้นมีการเปิดเข้าออก การแพร่กระจายเชื้อจะมี ก็เลยรีบค่ะ

จากนั้นเกิดอะไรขึ้น พอน้องปรายเตือน?

ปราย : ตัวลูกสาวคนไข้ก็พยักหน้ารับค่ะ แล้วก็เดินออกไปค่ะ

จากนั้นเขาเดินกลับมาอีกที จะเข้าห้องไอซียู น้องสาก็เข้าไปห้าม บอกว่าตรงนี้อยู่ไม่ได้ด้วยเพราะเป็นเคาน์เตอร์พยาบาล น้องเดินมา เขาถามน้องว่าไง?

ปราย : ญาติถามว่าใครเป็นคนที่พูดคุยกับภรรยาเขากับลูกเขา หนูก็บอกว่าหนูเองค่ะ หลังจากนั้นเขาก็ทำเหตุการณ์ตามกล้องวงจรปิดเลยค่ะ

จากนั้นคนที่เขาทำร้ายร่างกายน้องเขาติดต่อมามั้ย?

ปราย : ไม่มีค่ะ

ธนกฤต : ยังไม่มีใครได้พูดคุย แม้แต่ทางกระทรวงก็ยังไม่มีใครติดต่อมา

น้องปรายจะเอายังไงต่อไป?

ปราย : หนูก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายค่ะ อยากให้เขาได้รับโทษสูงสุดค่ะ

น้องปรายยืนยันว่าน้ำเสียงที่เราพูด ไม่ได้พูดรุนแรงจนเกินไป แต่เป็นเสียงดังเพื่อปรามเขา เพราะเคยเตือนแล้วแต่ไม่ฟัง ด้วยความเป็นห่วง?

ปราย : ใช่ค่ะ

อันนึงที่ต้องกราบขอร้อง อย่าพิมพ์มาว่าสมควรแล้วที่โดน อันนี้ไม่เหมาะ จะอะไรก็ตามแต่ ไม่ควรมีใครถูกทำร้ายแบบนี้ ไม่มีสิทธิ์ไปตบแบบนี้ ยิ่งในสถานพยาบาล มันไม่ได้ อย่าพิมพ์มาแบบนี้ แอดมินจะบล็อกเลย เตือนด้วยความห่วงใย เข้าใจฟีลว่าเสียงดังมั้ย เพราะผมก็เคยโดนแบบนี้ ท่านผอ.หนักใจมั้ย?

นพ.ภูษิต : จริงๆ ไม่ได้หนักใจอะไร เราตกใจตอนเกิดเหตุการณ์ และห่วงน้องมากกว่า เพราะอย่างที่บอกว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดในรพ. ที่มาทำรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ขนาดนี้ หลังจากนั้นเราดำเนินการ มีกระบวนการกระทรวงในการดูแลเจ้าหน้าที่ และจัดการเหตุของความรุนแรง เราก็พาเจ้าหน้าที่ไปแจ้งความ ที่หนักใจคือเหตุการณ์หลังจากนั้นมากกว่า

คืออะไร?

นพ.ภูษิต : กระบวนการทางโซเชียล ข่าวที่ออกเป็นจริงตามนั้นหรือเปล่า ที่ว่ามีเสียงดัง รพ.ยินยอมไม่แจ้งความ ให้ยอมความ จริงๆ เรื่องพวกนี้ไม่มี

มีบางเพจบอกว่าทางรพ. มีการไกล่เกลี่ยให้ยอมๆ ความคนตบไปเถอะ ไม่มีใช่มั้ย?

นพ.ภูษิต : ไม่มีนะครับ ลองถามน้องๆ ได้

แอน : ไม่มีค่ะ เราให้น้องๆ แจ้งความตั้งแต่ตอนแรก เพราะเป็นการกระทำที่รุนแรง และในขณะที่น้องปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วย เราเลยให้แจ้งความ น้องก็ทำตามระบบของรพ. แจ้งรปภ. แล้วรปภ.ก็แจ้งตร. ตร.ก็เข้ามาในพื้นที่

ท่านกังวลใจเรื่องโซเชียลไปลงตรงไหน?

นพ.ภูษิต : เรื่องเสียงดังคงไม่ได้กังวล เราทำงานบริการ เราจะรู้ว่ามักจะเกิดข้อร้องเรียนเรื่องการให้บริการบ่อยๆ ซึ่งก็มีระบบการจัดการอยู่แล้ว อย่างที่บอกว่ามีการร้องเรียนแล้วเงียบ แต่จริงๆ บางอย่างเราจัดการไปเราไม่ได้มาบอก มีการว่ากล่าวตักเตือน มีกระบวนการจัดการปรับปรุงบริการทุกอย่าง

รพ.ก็ยอมรับว่ามีบุคลากรบางท่านใช้น้ำเสียงไม่เหมาะสม อาจมีอยู่จริง?

นพ.ภูษิต : อาจมีอยู่จริง แต่ไม่ใช่เคสนี้ ท่านธนกฤตก็เคยเจอ แต่เรื่องลงไม้ลงมือ มันไม่เคยมี

ธนกฤต : วันนึงมีคนใช้บริการล้านคนทั้งประเทศ มันอาจเกิดที่ไหนก็แล้วแต่ เวลาเกิดขึ้นปุ๊บ เราก็วอร์นนิ่งไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าท่านต้องจัดการแบบนี้ บางรายถูกภาคทัณฑ์ บางรายทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม เราให้พักงาน บางรายถ้าเป็นลูกจ้าง เราให้ออกจากราชการก็มี ไม่ใช่เราไม่ทำนะ สุ่มตัวอย่างผมก็ทำมาแล้ว ผมไปสุ่มตัวอย่างรพ.ด้วยซ้ำ และไม่แจ้งรพ.ให้ทราบด้วย มาตรการเราก็ต้องมีแบบนี้ แต่ความรุนแรงไม่ควรเกิดขึ้นเท่านั้นเอง ผมไม่ได้มองว่าข้าราชการที่เป็นเจ้าหน้าที่ของเราจะทำถูกต้องทั้งหมด มันย่อมมีคนที่มีอารมณ์แตกต่างไปบ้าง แต่น้องเป็นผู้หญิง น้องที่ถูกตบอายุ 26 เอง จากคนที่เขามีจิตใจร่าเริงแจ่มใส วันนี้กลายเป็นโรคเครียด เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มองหลายมุมมองได้ครับ

วันนี้มีการพูดกันเยอะแยะมากมาย อันดับแรก พยาบาลพูดเสียงดังจริงมั้ย พอภรรยาชายที่ตบไปบอกสามีเขา ก็เลยเกิดเป็นประเด็นหรือเปล่า หรือสองภรรยาไปส่งแมสเสจให้สามีถูกต้องหรือเปล่า หรือพูดรุนแรงไปมั้ยทำให้สามีโมโห หรืออาจไม่มีอะไรเลย แต่อาจเคยเจอเรื่องแบบนี้บ่อยๆ ไม่ไหวแล้วเลยระเบิด แต่ที่แน่ๆ ทุกท่านไม่เคยคุยกับครอบครัวคนที่ทำเลย เราติดต่อได้ ตอนนี้อยู่ในสายกับ “คุณหนู” ภรรยาคนที่ตบ และเป็นหนึ่งในต้นเรื่องเหมือนกัน อยากให้ลองเล่าเรื่องราว?

หนู : ก่อนอื่นต้องขอโทษคุณพยาบาลท่านนั้นด้วยนะคะที่สามีได้ทำพฤติกรรมแบบนั้นไป และขอโทษรพ. สังคม และคนไทยทุกๆ คนค่ะ ที่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น (เสียงสั่น) เราก็ต่อว่าสามีเหมือนกันค่ะที่ทำแบบนั้น เพราะถึงแม้ว่าเขาจะพูดจาไม่ดี เราก็ไม่มีสิทธิ์ทำร้ายใครค่ะ

คุณไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมสามี?

หนู : ใช่ค่ะ ตรงไปตรงมาเลย คือหกโมงเย็น ทางพยาบาลอนุญาตให้ไปเยี่ยมผู้ป่วยในห้องวิกฤตได้ สามีจูงลูกไปก่อน พอมีพี่พยาบาลท่านนึงเขาเตือน เขาพูดจาดีนะคะ บอกว่าไม่อยากให้เอาเด็กเข้ามาเลย สามีก็บอกว่าคนนี้แหละเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ เขาหายแล้ว ยายติดจากเขานี่แหละ ยายถึงได้ป่วย เขาเป็นหลานคนโปรด อยากให้คุณยายเห็น มีกำลังใจ ใจชื้นขึ้นมา เพราะตอนแม่มา อาการโคม่า คุณหมอแจ้งว่าเละมาแล้ว โอกาสที่จะหายจะรอด 50 ยังมากไปด้วยซ้ำ คุณพยาบาลก็บอกว่าได้ แต่ตอนี้เช็ดตัวอยู่ สามีเลยพาลูกออกมาก่อนค่ะ เหมือนขออนุญาตไปแล้ว ครั้งที่สองหกโมงครึ่ง ก็คิดว่าน่าจะเสร็จแล้วก็เลยเป็นคนพาลูกไปเอง ปฏิบัติตามกฎ ใส่แมสก์ ฉีดแอลกอฮอล์ ยืนอยู่หน้าห้องกระจก เพราะทางรพ.ไม่ได้อนุญาตให้เข้าไปในห้องอยู่แล้วเพราะเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ คุณพยาบาลท่านนั้นเช็ดตัวเสร็จก็เดินออกมา เอาแมสก์ออกจากหู ชักสีหน้าแล้วพูดว่าสูญเสียแม่อีกคนนึงยังไม่พอ อยากสูญเสียลูกอีกคนนึง ยอมรับได้ใช่มั้ย พาเด็กออกไปเดี๋ยวนี้ ด้วยน้ำเสียงค่อนข้างรุนแรง กระแทกกระทั้นโดยที่เราก็ตกใจค่ะ เราก็โอเค รับสภาพ ช็อกๆ ก็ออกไป ระหว่างออกไป ลูกก็พูดว่าทำไมพี่พยาบาลดุเราล่ะแม่ ไม่ขอโทษหนูด้วย พอออกไปเจอพ่อเขา เขาก็เล่าว่าพี่พยาบาลดุหนู ไม่ขอโทษหนูเลย ทางหนูก็เลยบอกสามีว่าเรากลับเถอะ วันนี้เขาไม่อนุญาตให้เด็กเข้า เดี๋ยวเราค่อยมาเยี่ยมวันอื่น แต่ด้วยความที่อาการแม่หนัก ก็เลยให้สามีเข้าไปดูแม่สักหน่อย เขาก็ไปยืนดูหน้ากระจก อาการแม่ก็หนักจริง คำพูดที่พี่พยาบาลพูดที่ลูกเล่าให้ฟัง มันก็แว้บมาในหัวเขา เขาก็เลยมีอารมณ์ค่ะ ทางเราจิตใจไม่ดี ทางพี่พยาบาลก็น่าจะพูดดีๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยากให้แยกเป็นสองประเด็นนะคะ ประเด็นแรกเราผิด เราทำร้ายร่างกายเขาเราผิดอยู่แล้ว เราผิดแน่ๆ ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ทั้งสิ้นค่ะ เรายอมรับผิดถึงแม้เขาพูดไม่ดี เราก็ไม่มีสิทธิ์ทำร้ายคนอื่น อันนี้ยอมรับผิด ก็ดำเนินคดีตามกฎหมายค่ะ ประเด็นที่สอง อยากให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคลากรทางการแพทย์ เวลาชาวบ้านไป ตาสีตาสา คนยากคนจนไป ก็อยากให้เขาพูดดีๆ เราเข้าใจว่าพยาบาลเหนื่อย เคสเยอะ คนไข้เยอะ โคม่า แต่ทางญาติที่เขาไป สภาพก็หนักเหมือนกัน บางคนก็จะเสียชีวิต เหมือนของแม่ก็ไม่รู้จะรอดมั้ย ก็อยากให้ได้รับบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นบรรทัดฐาน ญาติคนไข้ที่ได้เจอสภาพคนไข้ที่มีผลกับจิตใจอยู่แล้ว กับพี่พยาบาลเขาก็ดูแลเคสหนักๆ ต่างคนต่างมาเจอกันแล้วเกิดเหตุการณ์ มันอาจบานปลายอีก ก็อาจต้องใช้คำพูดกับชาวบ้านให้ดีๆ หน่อยๆ ค่ะ ส่วนอื่นเราผิดหมด เรารู้ ในเมื่อวันนี้เหตุเกิดขึ้นแล้วก็ขอให้เป็นบรรทัดฐาน เราไม่ได้บอกว่าถ้าคุณพูดแบบนี้แล้วจะมีคนทำคุณแบบนี้ ผิดก็คือผิดค่ะ แต่ขอได้มั้ย อย่ามีเหตุแบบนี้อีกเลย เราก็ไม่อยากให้มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นค่ะ

สามีอยู่ไหน?

หนู : อยู่ที่บ้านค่ะ เขาก็รู้สึกผิดค่ะ วันนั้นที่ทำเสร็จ เขาก็รอตร.ทำผิดเขาก็ยอมรับผิดค่ะ ก็ไปสภ.กันวันนั้นค่ะ ไม่ได้หนีค่ะ

อยากถามอะไรมั้ย?

ธนกฤต : ถ้ามันเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดอยากให้มาพูดคุยให้ข้อมูลกันด้วยในมุมนึง เวลาเขารับบริการแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง ต้องเรียนว่าบุคลกรมีทั่วประเทศ ถ้ามีประเด็นใดที่ประชาชนไม่สบายใจ ช่องทางในการร้องเรียนก็ได้ทำ ก็ดีที่อย่างน้อยสุดก็ยอมรับว่ามีการทำร้ายร่างกายเขาจริงและไม่สบายใจด้วย เรื่องการร้องเรียนอยากฝากว่าถ้าบุคลากรทำอะไรไม่ถูกต้อง ไม่สมควร ก็มีช่องทางในการร้องเรียนไปได้

นพ.สุรวิทย์ : อยากนำเรียนว่าเวลาคุณไปใช้บริการ รวมถึงประชาชนทั่วไป ถ้าไม่ได้รับความสะดวกให้รพ.ทุกแห่งจะมีช่องทางร้องเรียน ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็มีศูนย์ดำรงธรรม มีศูนย์แจ้งเหตุของกระทรวงสาธารณสุขทุกเรื่องจะถูกส่งเข้ามาที่รพ. หรือส่งมาที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ถ้ารายได้ปฏิบัติไม่เหมาะสม ก็จะมีการตักเตือนและภาคทัณฑ์ไปตามลำดับ แต่ต้องนำเรียนว่าทุกวันนี้กระทรวงสาธารณสุขให้บริการพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก วันนึง 1 ล้านครั้ง พี่น้องอาจไม่ได้รับบริการที่เหมาะสมไปซะทุกครั้งทุกหน แต่ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข มีใจที่จะดูแลพี่น้องประชาชน ตรงส่วนนี้อยากให้เห็นใจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลพี่น้องประชาชนด้วยนะครับ

นพ.ภูษิต : มันแยกเป็นสองประเด็น ยินดีที่มองออกว่าเป็นสองประเด็น มันอาจมีข้อขัดแย้งหรือเห็นไม่ตรงกันเรื่องคำพูด คำพูดๆ นึงอาจรู้สึกไม่เหมือนกัน แต่ที่เห็นตรงกันคืออาการคนไข้ก็หนัก พยาบาลก็งานหนัก งานเยอะ โอกาสเกิดข้อขัดแย้งในคำพูดคำเดียวกันมันมี ผมเชื่อว่าพยาบาลเราตั้งใจดูแล แม้เกิดเหตุนี้ไม่มีคำพูดสักคำที่เขาจะไม่ดูแล

ธนกฤต : ฝากไว้นิดนึง ไม่ต้องไปกังวลเรื่องคุณแม่ที่ยังรักษา รพ.ก็ดูแลตามปกติ เราแยกแยะเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องคุณแม่คุณหมอก็ดูแลอย่างดีอยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้ มาเจอท่านสาธารณสุขจังหวัดก็จะดีนะ

ทราบใช่มั้ย ในสิ่งที่พยาบาลพูดเสียงดัง ใช้น้ำเสียงไม่เหมาะสมไปบ้าง แต่คำพูดคือความห่วงใย?

หนู : ทราบค่ะ

อีกอันจำเป็นต้องถาม แมสเสจที่เล่าให้สามีฟัง คุณได้มีการชูรสหรือเปล่า?

หนู : บอกปกติค่ะ ชวนกลับด้วยซ้ำ บอกว่าเดี๋ยวค่อยมา ไม่ต้องพาลูกมา ค่อยมาใหม่ เขาไม่ให้เด็กเข้า แต่ก็เล่าว่าพี่พยาบาลใช้น้ำเสียงว่าอย่างนี้ๆ เขายังไม่อะไรนะคะ เขาก็ไปดูแม่ แต่ตอนที่เขาดูอาการแม่แล้วคำพูดคงผุดขึ้นมานั่นแหละค่ะ เขาเลยเลือดขึ้นหน้า ก็โกรธ เฮ้ย แม่จะตายแล้วเหรอ มาว่าลูกให้ตายอีกเหรอ ประมาณนี้ค่ะ

ตอนนี้พี่สาวคุณปราย นั่งอยู่กับผมด้วย คุณอยากพูดอะไรกับพี่สาวคุณปราย?

หนู : สุดท้ายก็ขอใช้พื้นที่ตรงนี้ ขอโทษพี่พยาบาลอีกครั้ง และขอบคุณคุณหมอเจ้าของไข้ พี่พยาบาลทุกท่าน ที่ช่วยดูแลรักษาคุณแม่และขอโทษทุกฝ่ายกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทางครอบครัวหนูก็เสียใจ ยอมรับผิด จากการไม่ควบคุมอารมณ์ให้ดีกว่านี้ และขอบคุณรายการโหนกระแส คุณหนุ่มที่ให้โอกาสหนูได้ออกมาขอโทษค่ะ

สามีอยากพูดอะไรสักนิดมั้ย?

หนู : ไม่ได้อยู่ด้วยกันค่ะ กำลังไปดูแม่อยู่ค่ะ

อยากให้พาสามีไปพบผอ. หรือสสจ. มันจะได้ไปคุยว่าจะเอายังไงกัน เรื่องเจตนาไม่เจตนาไปว่ากันต่างๆ นานา แต่เรื่องนี้คุณต้องบอกสามีว่าทำแบบนี้ไม่ได้นะ?

ธนกฤต : โกรธยังไงก็ตาม อย่าไปตบ เขาเป็นผู้หญิง

เอาตรงๆ ผมก็เข้าใจมุมที่คุณพูด ว่ามันเป็นสองมุมมอง คุณพูดถูกต้อง พยาบาลเขาก็เหนื่อย เรียนตามตรงไม่ได้เข้าข้างพยาบาลภาครัฐ พยาบาลได้เงินน้อย การดูแลผู้ป่วยหลายๆ คน โดยเฉพาะวอร์ดไอซียู มันหนักหนามากนะ เงินน้อย บุคลากรมีน้อย ก็อาจมีภาวะมันแย่ ชีวิตอีกแล้ว ผมเชื่อว่าเขาต้องทำ แต่คน ไม่ใช่เครื่องจักร ต้องมีบ้างแหละความรู้สึก วันนึงมาเจอญาติคนป่วย บางครั้งก็อาจมีติดปลายนวม เสียงดังบ้าง เพราะญาติผู้ป่วยอาจไม่ฟัง ขณะเดียวกัน ญาติคนป่วยก็แย่ ท้อใจอยู่แล้ว แม่จะตายไม่ตาย หรือผู้ป่วยบางคนหนัก จะเป็นอะไรหรือเปล่า มาเจอคำพูดแบบนี้ก็แย่ อยู่ในภาวะเครียดสองฝ่ายมาเจอกัน มันพร้อมปะทุได้เสมอ อย่างที่คุณหนูพูดเลย มันมีโอกาสได้ ดังนั้นต้องใจเย็นๆ กันนะ ทั้งพยาบาลและญาติผู้ป่วยด้วย?

ธนกฤต : อย่างน้อยเขากำลังทำความสะอาด แต่งตัวให้คุณแม่ของน้อง เขาไม่ได้ทำกับคนไข้คนอื่นนะ เขากำลังดูแลญาติผู้ใหญ่ของคุณอยู่ ถ้ามองตรงนี้สักนิดนึง ผมว่ามันก็จะดีกว่านะ

แอน : พยาบาลทุกคนมีใจเต็มร้อยในการดูแลผู้ป่วย ต้องการสอบถามก็จะมีขั้นตอนอยู่แล้ว เหมือนเคสนี้อาจให้เขาทำให้เสร็จก่อนแล้วมานั่งคุยกัน ว่าเราต้องการอะไร เขาต้องการอะไร เราคุยกันได้ค่ะ ขั้นตอนก็มีอยู่แล้ว น้องเขาทำงาน มีหัวหน้าหอ หัวหน้าหอก็จะคุยให้ข้อมูลผู้ป่วยได้ค่ะ

เชื่อว่าสิ่งที่คุณปรายพูดเสียงดังออกไป แฝงไปด้วยความหวังดีนะครับ เธอจะไม่เตือนก็ได้ เด็กจะติดอะไรก็เรื่องของคุณ แต่สุดท้ายไม่ใช่วิสัยของพยาบาล เขามีหน้าที่ต้องปกป้องคนป่วย ต้องประเมินสถานการณ์ อาจมีบ้างเคยเตือนไปแล้ว แต่ไม่ฟัง ก็อาจต้องใช้น้ำเสียงดุอีกนิดนึงเพื่อให้ฟัง คุณหนูเข้าใจนะ?

หนู : เข้าใจค่ะ เพราะพี่พยาบาลคนแรกพูดดีอยู่ค่ะ

พี่สาวคุณปรายอยากพูดอะไร?

พี่สาวปราย : อยากเรียกให้ทราบว่าการอยู่ร่วมกันในสังคม เขามีกฎกติกาที่เรียกว่ากฎหมายอยู่ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรโดยยั้งคิดก็ตาม สุดท้ายต้องยอมรับผลที่ตามมาให้ได้นะคะ

ไปว่ากันตามกระบวนการ คุณอาจต้องเตือนสามีคุณด้วย?

หนู : ค่ะ

นพ.สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สารธารณสุขจังหวัดระยอง กระทรวงค่อนข้างกังวลใจเรื่องเจ้าหน้าที่ที่ถูกกระทำโดยผู้ที่มาใช้บริการ และอาจเกิดเหตุเป็นเช่นนี้ ก็ได้มีการวางมาตรการ เน้นย้ำบริการให้ถือปฏิบัติ ในการจัดให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด ลักษณะที่เราจะใช้เป็นหลักฐานดำเนินการในภายหลัง รวมทั้งจัดพื้นที่ประตูเปิดปิด พื้นที่โซนบริการให้พักให้รอคอย และมาตรการด้านความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ มีการเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ให้สื่อสารกับผู้มารับบริการ คำนึงถึงไม่ให้เกิดลักษณะกระทบกระแทก ดูแลเจ้าหน้าที่เราด้วยเช่นกัน กรณีน้องปราย เราก็ให้หยุดพักไปก่อน ถ้ามารดาเขาที่ต้องพักรักษาตัวในไอซียูเวลานาน ก็อาจให้น้องเขาหยุดพักไป หรืออาจย้ายไปวอร์ดอื่นก่อน เรื่องกฎหมายหากท่านใดก่อเหตุในรพ. กระทรวงสาธารณสุข จะดำเนินการด้านกฎหมายอย่างเต็มที่

นพ.ภูษิต : เราคนไข้เยอะ เจ้าหน้าที่น้อย เงินเดือนก็น้อย นอกจากเราทำงาน เรามีการทำบุญไปด้วย ในรพ.สังกัดเรา เห็นใจเราเถอะ ถ้ามีความขัดแย้งอะไร ก็พูดคุยกันได้

มุมหัวหน้าวอร์ดเอง กังวลใจมั้ย?

แอน : จริงๆ ทำงานมา 30 ปี ก็ไม่เคยเจอเหมือนกันที่จะเจอญาติมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน คนไข้ที่เข้ามาอาการหนักทุกคน เรามีระเบียบการเยี่ยมชัดเจน ระเบียบป้องกันการกระจายเชื้อก็ชัดเจน เราเข้าใจมุมมองญาติว่าคนไข้มาอาการหนัก ต้องการพาหลานตัวเล็กๆ เข้ามา แต่ทั้งไอซียู มีติดเชื้อ ดื้อยาอยู่ในอากาศ เราไม่อยากให้นำเด็กเข้ามารับเชื้อ ถ้าเป็นไปได้ พยายามเอาลูกหลานอยู่ที่บ้านค่ะ ทั้งเจ้าหน้าที่พยาบาล และทีมแพทย์ที่รักษา เรายังรักษาคนไข้เต็มที่เต็มความสามารถ ถึงแม้เขามาทำร้ายน้องเราขนาดนี้ แม้เราจะรับไม่ได้ เพราะน้องเป็นเด็กร่าเริง ตลก ถึงแม้มีคุยเสียงดังบ้าง แต่ตอนนี้เราโทรหาน้องทุกครั้ง เขาร้องไห้ทุกครั้งที่เราโทรหาค่ะ น้องจิตตกไปเลย น้องเพิ่งทำงานได้ 4 ปี น้องจะกลับมาทำงานก็ต้องดูสภาพจิตใจก่อนว่าพร้อมมั้ย

เอ : เรามีการแยกเขาออกจากที่เกิดเหตุ เนื่องจากสภาพจิตใจเขาไม่พร้อม เราจัดโซนให้เจ้าหน้าที่อยู่ในโซนที่ปลอดภัย โดยมีทีมบริหารรพ. มีรปภ.ช่วยดูแลอยู่ เรากลัวว่าจะมีผลอะไรกับน้องหรือเปล่า เรากังวลอยู่ แต่ด้วยจิตใจเราเป็นพยาบาล ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เราก็ไม่ทิ้งผู้ป่วยค่ะ เราให้บริการด้วยใจ

คุณสาวกลัวมั้ย?

สาว : วันที่เกิดเหตุ ไมเกรน ปวดหัวเลย ต้องกินยาทุก 4 ชม. และนอนไม่ค่อยหลับทุกวันนี้ยังคิดถึงแต่เรื่องพวกนี้ เปิดโซเชียลเจอก็ต้องปิดเลย ดูไม่ได้ เราเครียด อ่านแล้วจะเครียด เราไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ทำงานมา 20 กว่าปีก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ วันนั้นก็ตกใจค่ะ หลังเหตุการณ์วันนั้นก็ทำต่อเนื่องเลยค่ะ

สาล่ะ?

สา : ตอนเกิดเหตุหนูก็ช็อกเหมือนกัน อยู่ตรงหน้าหนูเลย หนูตกใจมาก ทุกวันนี้ก็กังวลเรื่องความปลอดภัย

ถอดใจมั้ย ?

สา : ไม่ค่ะ

เคยดุญาติคนป่วยมั้ย?

สา : ไม่ค่ะ

สาว : ก็จะแนะนำดีๆ ถ้าเขาสงสัยให้ถาม ถ้าเขาเสียงดังก็บอกให้ใจเย็นๆ ส่วนใหญ่ไม่เจออะไรที่รุนแรงมากค่ะ

ธนกฤต : บางทีคิดอีกมุม ตบครั้งนี้ก็ทำให้เตือนสติคนในกระบวนการได้เหมือนกันว่าถ้าพูดไม่ดี ไม่รู้คราวหน้าจะมีใครมาตบหรือเปล่า แต่ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น อีกอย่างอยากบอกว่าลองไปนึกดูอีกมุมนึง ข้าราชการก็ทำงานหนัก เงินเดือนน้อย พยาบาลถ้าเขาไปอยู่เอกชน เขาได้เงินเยอะกว่านี้อีก ถ้าระบบเราป่วยถึงขนาดหมอไม่อยากอยู่ พยาบาลไม่อยากทำ ลองดูสิว่าเราจะหาหมอที่ไหน ใครจะรักษา ใครจะดูแลคนในครอบครัวเรา ถ้อยทีถ้อยอาศัยเถอะ