สสส.-ธนาคารจิตอาสา ห่วงคนทำงานที่บ้าน เครียด! แนะ 5 วิธีฟื้นฟูจิตใจให้ชีวิตมีสุข

45

สสส.-ธนาคารจิตอาสา เผย ยอดดาวน์โหลดคู่มือสร้างภูมิคุ้มใจช่วง WFH ทะลุหมื่น ห่วงคนทำงานที่บ้าน เครียด! แนะ 5 วิธีฟื้นฟูจิตใจให้ชีวิตมีสุข ขยับกาย-ใส่ใจตัวเอง-ดูแลอารมณ์-เข้าสังคม-วางเป้าหมายระยะสั้น ชวนฝึกจิตคลายเครียด 40 นาที/วัน ด้วยนวัตกรรมหลักสูตรออนไลน์ผ่านซูม “ห้องพักใจ”

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์ระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่สามกระทบวงกว้างมากกว่าทุกครั้ง บริษัทและองค์กรจำนวนมากใช้มาตรการให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน (work from home : WFH) เพื่อบรรเทาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในขั้นสูงสุด หรือลดจำนวนพนักงานที่จำเป็นต้องเดินทางเข้าบริษัทให้น้อยที่สุด ทำให้คนทำงานที่บ้านจำเป็นต้องมีวิธีการจัดการความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานมากขึ้น เนื่องจากต้องดูแลงานในหน้าที่ และครอบครัวในเวลาเดียวกัน บางคนต้องดูแลลูกหรือดูแลพ่อแม่ที่มีอายุมาก ทำอาหาร ทำงานบ้าน พร้อมกับการทำงานในทุกวัน บทบาทที่ไม่ชัดเจนและสถานการณ์ภายนอกที่ไม่แน่นอนสร้างความเครียด วิตกกังวล นำไปสู่ความเครียดสะสม เกิดปัญหาสุขภาพจิต ภาวะซึมเศร้า กระทบความสัมพันธ์ หากไม่ได้รับการฟื้นฟูจิตใจที่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว เสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายในที่สุด

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ความเครียดเป็นปัญหาที่ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ สสส. เร่งสร้างเสริมสุขภาวะด้านจิตใจของคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวัยทำงานที่ต้องทำงานที่บ้าน ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับธนาคารจิตอาสา และภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการวิถีพัฒนาจิต : ภารกิจสร้างสุข มุ่งสร้างเสริมสุขภาพจิตคนไทยผ่านเว็บไซต์ความสุขประเทศไทย โดยผลิตบทความ และคลิปวิดีโอ กว่า 600 ชิ้น รวมถึงกิจกรรมจิตอาสาที่ช่วยพัฒนาจิตใจกว่า 100 กิจกรรม มีผู้เข้าชมเว็บไซต์แล้วกว่า 220,000 ครั้ง พร้อมพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือฟื้นฟูจิตใจคนทำงานที่บ้าน 2 ชิ้น ได้แก่ “คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับครอบครัวและเด็กในสถานการณ์โควิด-19” และ “เมนูสร้างภูมิคุ้มใจ 14 วันฉันทำได้” เป็นแนวทางให้คนทำงานที่บ้านได้จัดสรรเวลาเพื่ออยู่ร่วมกันกับครอบครัวอย่างลงตัว ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนที่ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันด้านจิตใจจำนวนมาก มียอดดาวน์โหลดผ่านทางเว็บไซต์ความสุขประเทศไทยกว่า 11,000 ครั้ง

“สสส. และภาคีเครือข่ายเร่งปรับตัวให้เข้าถึงคนทำงานที่บ้านมากยิ่งขึ้น ได้พัฒนากิจกรรมฝึกดูแลจิตใจบนสื่อออนไลน์ “ห้องพักใจ” ผ่านโปรแกรมซูม (Zoom meeting) ตอบโจทย์ความต้องการคนทำงานที่บ้านในสถานการณ์วิกฤต เรียนรู้ทักษะการดูแลร่างกาย จิตใจ เพื่อรับมือกับความเครียดในชีวิตแต่ละวันได้ โดยผู้เข้าร่วมจะได้ฝึกทักษะพื้นฐานเพื่อนำตัวเองออกมาจากความเครียด เปลี่ยนมุมการมองความรู้สึกด้านลบจากปัญญาในชีวิต โดยใช้เวลาเพียง 40 นาทีต่อวัน เป็นระยะเวลา 1 เดือน การจัดกิจกรรมครั้งนี้มุ่งเป้าหมายให้คนทำงานที่บ้านเข้าร่วม 1 หมื่นคน” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารจิตอาสา และผู้อำนวยการร่วมโครงการวิถีพัฒนาจิต : ภารกิจสร้างสุข สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า การฟื้นฟูจิตใจสร้างความสุขพื้นฐาน ภายใต้แนวคิดการสร้างความสามารถในการฟื้นคืน (Resilience) มีขั้นตอนการปฏิบัติ 5 ด้าน ดังนี้ 1.ด้านร่างกาย ต้องลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง มีกิจกรรมทางกาย เช่น จัดตารางเคลื่อนไหวอย่างน้อย 1 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมง อาจจะตั้งนาฬิกาปลุกแจ้งเตือน 2.ด้านจิตใจ ใส่ใจในสิ่งที่ตัวเองทำได้ ลดการจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม 3.ด้านอารมณ์ ฝึกรับฟัง เข้าใจ ให้กำลังใจตัวเอง ดูแลตัวเองเหมือนเพื่อนสนิท หรือใช้วิธีเขียนขอบคุณสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง 10 เรื่องต่อวัน 4.ด้านสังคม หาคนที่รับฟังเพื่อแบ่งปันความกังวล หรือทำกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนและสังคมตามกำลัง และ 5.ด้านจิตวิญญาณ เห็นคุณค่าและความหมายของชีวิต โดยวางเป้าหมายระยะสั้น เช่น สัปดาห์นี้อยากทำงานอย่างมีความสุข อารมณ์สดใส ซึ่งการฝึกปฏิบัติตามขั้นตอนอาจจะเริ่มปฏิบัติทีละด้าน เพื่อเป็นการฟื้นฟูสุขภาวะด้านจิตใจ ลดความวิตกกังวลถึงปัญหาที่เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดความเครียด นำไปสู่การสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานได้

“หากมีความเครียด สิ่งที่ควรทำอันดับแรก คือ กลับมารับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเอง จัดการกับความคิด หาที่มาของความเครียด ซึ่งการรู้ตัวเองเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ทำให้หาต้นตอของปัญหาและหาวิธีแก้ไขปัญหาต่อไปได้ ทั้งนี้ กิจกรรม “ห้องพักใจ” จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 21 กรกฎาคม 2564 เข้าร่วมได้ที่ https://bit.ly/3ejmRnj ติดตามข้อมูลแนวทางการดูแลสุขภาพจิตใจตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ เว็บไซต์ความสุขประเทศไทย www.happinessisthailand.com” ดร.สรยุทธ กล่าว