การเคหะฯ ลุยต่อ “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม” ระยะที่ 2 แปลง A (อาคาร A1)

49

“โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง” อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของการเคหะแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 3 “การฟื้นฟูชุมชนเมือง พัฒนาเมืองใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบในหลักการแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559-2567) แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ โดยพัฒนาโครงการรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจำนวน 6,546 หน่วย และพัฒนาโครงการรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่จำนวน 13,746 หน่วย รวมทั้งสิ้น 20,292 หน่วย

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดว่า “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม” ระยะที่ 2 แปลง A (อาคาร A1) บริเวณบึงมักกะสัน พื้นที่โครงการประมาณ 5.41 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่แปลง A ทั้งหมด 20.02 ไร่ โดยสัญญาก่อสร้างเริ่มวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 – 11 มีนาคม 2566 รวมระยะเวลา 660 วัน แต่ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้แรงงานขาดแคลน และจากประกาศกรุงเทพมหานครเรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว จึงไม่สามารถก่อสร้างได้ตามแผน ทำให้มีความล่าช้า ฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง 1 (ชุมชนดินแดง) ได้หาแนวทางในการเร่งรัดดำเนินการโดยการนำเทคโนโลยีในการก่อสร้างมาทดแทนแรงงาน ควบคุมการเข้าปฏิบัติงานของคนงานตามมาตรการควบคุมโรค จึงทำให้การรื้อถอนอาคารเสร็จเรียบร้อย

ขณะนี้อยู่ระหว่างเริ่มดำเนินการในส่วนของฐานรากและโครงสร้างใต้ดิน ฐานอาคารเป็นระบบเสาเข็มเจาะ เส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 0.80 เมตร มีความลึก 56 เมตร (มาตรฐานอาคารสูงทั่วไปมีความลึกเฉลี่ย 55 เมตร) เนื่องจากเสาเข็มอยู่ลึกจึงไม่ต้องกังวลเรื่องของการสั่นสะเทือน มีการคำนวณเพื่อรองรับแผ่นดินไหวไว้ตามกฎหมายกำหนด สำหรับวัสดุผนังใช้ระบบผนังสำเร็จรูป (Precast Concrete) ช่วยให้งานก่อสร้างรวดเร็วขึ้น คอนกรีตที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานหลักวิศวกรรม การดำเนินงานขณะนี้มีการทดสอบการรับน้ำหนักของเสาเข็ม และดำเนินงานเสาเข็มเจาะได้จำนวน 33 ต้น จากนั้นได้มีการขนมูลดินประมาณ 15,000 ลูกบากศ์เมตร ไปทิ้งที่กองทัพอากาศ ซึ่งการทิ้งมูลดินถือเป็นจุดสำคัญของการเริ่มก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างใต้ดิน

การออกแบบอาคารพักอาศัยในโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงคำนึงถึงกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 และ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งอาคารพักอาศัยแปลง A มีจำนวน 4 อาคาร และอีก 3 อาคารอยู่ในโครงการฟื้นฟูเมืองดินแดง ระยะ 3 แปลง A (อาคาร A2-A4) สูง 32 ชั้น จำนวน 1,905 หน่วย การวางตำแหน่งอาคารพักอาศัยแต่ละอาคารมีลักษณะรูปตัวยู (U) ออกแบบให้มีช่องว่างเพื่อให้ลมธรรมชาติพัดได้สะดวก และเนื่องจากมีจำนวนอาคารพักอาศัย 4 อาคาร จึงทำให้มีความโปร่งโล่ง ไม่แออัด มีการจัดพื้นที่สีเขียวให้ได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด การวางผังมีการเปิดระยะและเชื่อมมุมมองจากสวนของโครงการข้างเคียงมายังสวนด้านในโครงการ ทำให้เกิดความรู้สึกต่อเนื่องของพื้นที่สีเขียว ออกแบบให้ลิฟต์หลักอยู่บริเวณมุมอาคารทั้ง 2 ด้าน ทำให้การสัญจรมีความสะดวก มีพื้นที่สวนขนาดใหญ่บนอาคาร เพื่อเพิ่มสุนทรียภาพ เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์และผู้พักอาศัยได้ใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

“โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงมีการดำเนินงานตามมาตรการ EIA เพื่อลดการร้องเรียนจากผู้พักอาศัยโดยรอบรวมถึงได้จัดพื้นที่ส่วนบริการชุมชน จัดให้มีองค์ประกอบชุมชนสำหรับรองรับการค้าขายในพื้นที่รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม และรองรับการค้าในพื้นที่รองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาร้านค้าชุมชนที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชาวชุมชนเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันและพื้นที่ดังกล่าวได้จัดให้มีส่วนบริการชุมชนสำหรับใช้เป็นศูนย์บริการชุมชน เช่น ศูนย์สุขภาพผู้สูงอายุ ศูนย์เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน ห้องสมุดชุมชน ศูนย์กีฬาและนันทนาการ และองค์ประกอบอื่น ๆ ให้มีสัดส่วนที่เพียงพอและเหมาะสมกับผู้พักอาศัย ตามแนวนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เน้นย้ำว่าการเคหะแห่งชาติจะต้องสร้างที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยไปพร้อมกัน” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าวย้ำ