เปิดประวัติ “สรพงศ์ ชาตรี” พระเอกระดับตำนาน ศิลปินแห่งชาติ

62

อาลัย “สรพงศ์ ชาตรี” พระเอกระดับตำนานวงการภาพยนตร์ไทย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) 2551 ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งปอด ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นายกรีพงศ์ เทียมเศวต หรือ “สรพงศ์ ชาตรี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) พุทธศักราช 2551 ถึงแก่กรรม ในวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2565 เวลา 15.51 น. ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เลขที่ 33 สุขุมวิท ซอย 3 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ด้วยโรคมะเร็งปอด สิริรวมอายุ 73 ปี โดยทายาทได้ขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 เวลา 17.00 น. และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ ระหว่างวันที่ 11- 17 มีนาคม 2565 เวลา 19.00 น. ณ ศาลากลางน้ำ วัดเทพศิรินทราวาส แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรู พ่าย ซึ่งทายาทจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล 100 วัน และกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป

อธิบดีสวธ. เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ เผยแพร่และถ่ายทอดผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน แล้ว ในยามที่ศิลปินฯ เสียชีวิต ยังให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ นอกจากดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพ แล้ว ยังมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ

นายกรีพงศ์ เทียมเศวต หรือ สรพงศ์ ชาตรี เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 และบรรพชาเป็นสามเณรจนอายุ 19 ปี ขณะบรรพชาได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนสอบได้นักธรรมเอก เนื่องจากนายกรีพงศ์ เทียมเศวต มีความสนใจงานด้านการแสดงชอบดูหนังกลางแปลงมาตั้งแต่เด็ก จึงไปสมัครเป็นนักแสดงที่ทีวีช่อง 7 สี ต่อมาได้แสดงฉากโดดลงไปช่วยคนตกน้ำในเรื่อง “หญิงก็มีหัวใจ” เป็นเรื่องแรก ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หลังจากนั้น จึงได้แสดงเป็นตัวประกอบและแสดงเป็นพระเอกในเวลา

ต่อมา นายกรีพงศ์ เทียมเศวต มีผลงานการแสดง ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 จนถึงปัจจุบัน มากกว่า 500 เรื่อง ละคร 50 เรื่อง แสดงเป็นพระเอกในหลายบทบาทมากมาย เช่น ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน สามล้อถีบ สามล้อเครื่อง แท็กซี่ ขับรถเมล์ ตำรวจ ทหาร ลิเก หมอ ครู คนบ้า ขอทาน ตาบอด หลังค่อม หน้าบาก มนุษย์หมาป่า ฯลฯ จนได้รับฉายา พระเอกชั้นครู และพระเอกตลอดกาล

นอกจากจะมีความสามารถในด้านการแสดงแล้ว ยังมีความสามารถในเรื่องการร้องเพลง พากย์หนัง ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้กับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และกำกับละครให้กับบริษัทเวิร์คพอยท้ สอนการแสดงให้กับนักแสดงหน้าใหม่จนมีชื่อเสียงหลายคน จากการใช้ความสามารถทางด้านภาพยนตร์เป็นอย่างสูง จึงเป็นดาราชายผู้ได้รับรางวัลมากที่สุดในวงการภาพยนตร์ไทย อาทิ รางวัลตุ๊กตาทอง 5 รางวัล จากเรื่อง ชีวิตบัดซบ สัตว์มนุษย์ มือปืน มือปืน 2 สาละวิน เสียดาย 2 รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ 2 รางวัล จากเรื่อง ถ้าเธอยังมีรัก มือปืน รางวัลดาราทอง จากภาพยนตร์เรื่อง พลอยทะเล รางวัลดาราดาวรุ่งยอดเยี่ยม ในการประกวดภาพยนตร์นานาชาติ จากเรื่อง มือปืน รางวัลเพชรสยาม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม รางวัลบันเทิงเทิดธรรม Nine Entertain Award 2008 ได้รับยกย่องเป็นพระเอกยอดนิยมอันดับ 1 ดารายชายยอดนิยมอันดับ 1

นายกรีพงศ์ เทียมเศวต ยังคงรับแสดงภาพยนตร์และละคร ถึงแม้จะไม่ได้รับบทพระเอกเพราะอายุมาก แต่บทที่รับแสดงจะเด่นมีความหมายให้แง่คิดในการชม รักษาภาพลักษณ์ของคำว่า ดาราคุณภาพ นอกจากนี้ ยังได้หันมาทำคุณประโยชน์เพื่อสังคมโดยตั้งมูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายให้ ความรู้แก่สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่น ๆ นายกรีพงศ์ เทียมเศวต (สรพงศ์ ชาตรี) จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) พุทธศักราช 2551