DSI เปิดใจโต้ รับเผือกร้อนคดี “แตงโม” เพราะเป็นคดีดารา “เดชา” เห็นด้วยให้ร่วมแสวงหาข้อเท็จจริง โวยไม่ได้กลับลำ – ไม่ต้องบอกแม๊

75

กรณีที่มีผู้ร้องเรียนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ รับคดีการเสียชีวิตของ “แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์” เป็นคดีพิเศษ แต่ในเบื้องต้น “คุณแม่ภนิดา ศิระยุทธโยธิน” และ “ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์” แถลงค้านเรื่องนี้ เพราะเชื่อใจการทำงานของตร. ขณะที่ดีเอสไอได้ลงไปหาข้อมูลเบื้องต้นในคดี เพื่อนำมาสืบสวนสอบสวน ก่อนเสนอหลักฐานต่อคณะกรรมการคดีพิเศษของดีเอสไอเพื่อพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์รับเป็นคดีพิเศษหรือไม่

รายการ เป็นเรื่องใหญ่ ออนแอร์ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.10-17.55 น. ทางช่อง JKN 18 ดำเนินรายการโดย “เพชร กรุณพล เทียนสุวรรณ” สัมภาษณ์ “พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ” ผู้อำนวยการกองบริหารคดี DSI และรองโฆษกกรมสอบสวนพิเศษคดี DSI เพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าว

คดีของคนเสียชีวิตธรรมดาคนนึงซึ่งมีชื่อเสียงต้องใช้ขนาดนายกรัฐมนตรีหรือผู้บริหารกระทรวง ทบวง ต่างๆ มาเป็นคนตัดสินเลยเหรอ?

วรณัน : “เวลาเรามองเราไม่ได้มองว่าเป็นเคสเล็กหรือใหญ่หรือเป็นเคสของใครนะครับ เราดูที่ว่าการกระทำผิดเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่มีมติรับหรือไม่ เนื่องจากว่าคดีกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในขอบเขตภารกิจที่มีอำนาจทำไว้ล่วงหน้า เพราะฉะนั้นการที่จะรับต้องรับเท่าที่จำเป็น”

ทนายหลายคนบอกว่าคดีน้องแตงโมไม่ได้เข้า 5 หลักเกณฑ์ ของ DSI ที่จะสามารถรับได้เลย?

วรณัน : “อย่างที่ผมได้เรียนนะครับว่าอำนาจในการรับคดีพิเศษ เป็นอำนาจของคณะกรรมการคดีพิเศษ เพราะฉะนั้นผมจะไม่เข้าไปก้าวล่วง แต่ในการรับคดีมันก็มีหลักตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว”

ใน 5 ข้อ คือคดีต้องมีความซับซ้อนมากๆ ดูแล้วมีการซ่อนเงื่อน ต้องรวบรวมหลักฐานจำนวนมากด้วย กระทบต่อสังคม กระทบต่อความมั่นคงรุนแรง หรือมีองค์กรอาญชากรรมข้ามชาติ มีผู้อิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ซึ่งคดีของน้องแตงโมดูแล้วมันไม่เข้าสักข้อเลย?

วรณัน : “อย่าเพิ่งไปตัดสินใจเลยครับว่ามันเข้าหรือไม่เข้า ให้เจ้าหน้าที่เขาได้ทำงานก่อน”

ตอนนี้รับเรื่องไว้ แล้วการรับเรื่องต้องรออีกนานแค่ไหนถึงจะได้รับพิจารณา?

วรณัน : “เรื่องนี้ถ้าได้ฟังสัมภาษณ์ท่านอธิบดีเมื่อวานท่านให้กรอบเวลาการทำงานเบื้องต้นของพนักงานสอบสวนไว้ 1 เดือน เนื่องจากเรื่องนี้มีการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายก็ค่อนข้างคืบหน้าไปบ้างแล้ว เราก็จะมีหน้าที่สืบแสวงหาหลักฐานเบื้องต้นเพื่อจะนำไปประกอบการพิจารณาว่าจากข้อเท็จจริงที่เรามีหลังจากที่ได้รับข้อมูลจากทุกฝ่ายแล้วมันมีเหตุผลสมควรมั้ยที่จะมีมติให้เรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ เพราะฉะนั้นในการแสวงหาหลักฐานเบื้องต้นจึงไม่ได้มีเวลาที่ยาวนานมากนะครับ ก็ลงไปสืบสวน ดูข้อเท็จจริง พยานหลักฐานเบื้องต้น ว่ามีเหตุผลให้รับหรือไม่”

การที่จะให้คดีเหล่านี้เข้าสู่ DSI ร้องได้ ต้องมีผู้เสียหายร้องเองหรือเป็นใครก็ได้?

วรณัน : “ตรงนี้ก็เหมือนกัน ในการที่จะรับคดีเวลาเราเสนอกรรมการคดีพิเศษ มันก็จะมีประธานคณะกรรมการคดีพิเศษกำหนดหลักการในการยื่นเรื่องไว้ ใช้คำย่อๆ ว่าประกาศปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งในคำนิยามประกาศฉบับนี้ ในตัวผู้มีสิทธิร้องขอตามข้อ 4 ของประกาศ ก็หมายถึงประชาชนด้วย ในความผิดที่เป็นเรื่องที่รัฐเป็นผู้เสียหาย หรือความผิดต่อแผ่นดิน ต้องแยกกันว่าการยื่นเรื่องกับการพิจารณารับเรื่องก็ต้องดูเหตุผลในการรับเรื่อง แต่การเป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นเรื่องก็ตามที่ได้เรียนไปเมื่อสักครู่ ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ไปยื่นจะเป็นได้ มีหลักเกณฑ์พิจารณาอยู่ แต่เรื่องใหญ่ ที่เป็นอาญาแผ่นดิน จริงๆ ควรมีช่องทางให้เข้าถึงได้หลากหลาย เมื่อเข้าไปแล้วต้องดูหลักเกณฑ์อำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ ว่าใครควรใช้อำนาจหน้าที่นั้น แต่อย่าปิดโอกาสประชาชน”

สมมติคดีนี้เป็นคดีที่ DSI ได้เข้ามาทำ หลักฐานทั้งหมดที่ตำรวจได้ทำต้องเริ่มใหม่หรือใช้หลักฐานอันเดิมแล้วมาต่อยอด?

วรณัน : “ตัวพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ 2547 มันมีบทบัญญัติเรื่องคดีพิเศษไว้ในมาตรา 21 และในวรรคท้ายของมาตรา 21 สรุปสั้นๆ เลยว่าถ้าคดีใดที่พนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ซึ่งปัจจุบันคือพนักงานตร. เป็นผู้ทำอยู่ ต่อมาเป็นคดีพิเศษ สำนวนการสอบสวนที่ส่งมา กฎหมายให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนคดีพิเศษด้วย ฉะนั้นถ้าสรุปแบบตรงไปตรงมาคือพยานหลักฐานต้องมารวมที่คดีเดียวกัน และต้องไปดูข้อเท็จจริงว่าตอนที่มีเหตุในการรับคดีมีประเด็นอะไรเพิ่มเติม”

ถ้าไปสืบเพิ่มแล้วข้อเท็จจริงมันแย้งกับของตำรวจที่มี จะไม่ถือเป็นการหักหน้ากันหรือทำงานกันไม่ได้เหรอครับ?

วรณัน : “ต้องมองว่าในการทำงานเราทำงานให้เกียรติซึ่งกันและกันภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่นะครับ แต่ถ้าเป็นรัฐด้วยกันมันก็ต้องหาความจริงให้กับประชาชน ไม่ใช่มาทำงานแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกันจนทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน ก็คงไม่ใช่ แต่ถามว่าการทำงานให้เกียรติซึ่งกันและกันเป็นเรื่องสำคัญ”

ตำรวจหลายท่านบอกว่ามันไม่ได้ต่างกันระหว่างตำรวจกับ DSI ทำ เนื่องจากว่าส่วนใหญ่ DSI เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ก็มาจากตำรวจแห่งชาติ แล้วเครื่องมือบางอย่างของตำรวจดีกว่าด้วย การย้ายไป DSI จะมีอะไรเพิ่มเติมหรือแตกต่างจากตร.มั้ย?

วรณัน : “ต้องถามว่าบุคลากรส่วนใหญ่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ ณ ปัจจุบันมีข้าราชการที่เคยโอนย้ายจากตำรวจไม่ถึง 15% ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการจากสหวิชาชีพต่างๆ นะครับ ส่วนประเด็นในเรื่องเครื่องมือผมเรียนว่าเทคนิคมันเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปของเจ้าหน้าที่อยู่แล้วนะครับ สมมติเจ้าพนักงานตร.มีอำนาจ ประมาณ 4-5 วิธีการตามกฎหมาย DSI ก็มีอำนาจเช่นนั้นด้วย เราพูดกันเรื่องเครื่องมือทางกฎหมายที่อาจจะใช้ในเรื่องการทำงานได้กว้างกว่าแต่ถ้าเรื่องพยานหลักฐานถ้ามี 10 ชิ้นมันก็มี 10 ชิ้น ถ้าหลักฐานมีเท่านี้แต่อำนาจในการตรวจสอบของ DSI จะมีมากกว่าตำรวจในบางเรื่อง พยานหลักฐานมีอยู่อย่างไรก็มีอยู่อย่างนั้น ผมอยากเลี่ยงคำว่าตรวจสอบ เราเข้ามาเสริมให้ภาพที่ออกไปในสังคม ทำให้คนเข้าใจกระบวนการยุติธรรมมากกว่า ช่วยกันทำงานให้ดีขึ้นในภาพรวมของรัฐ”

ถ้าสมมติต้องรับคดีต้องสอบพยานทั้ง 5 คนใหม่มั้ย?

วรณัน : “เรื่องข้อกฎหมาย ถ้าต้องมาเป็นคดีพิเศษ การสอบสวนทั้งหมดก็ต้องมาเป็นส่วนหนึ่งในคดีพิเศษเช่นกัน ประเด็นอยู่ต่อว่าคำให้การที่ให้ไว้มีข้อเท็จจริงอะไรเพิ่มเติมมั้ยถ้ามีก็สอบเพิ่ม แต่ถามว่าสอบใหม่มั้ย ก็ไม่ใช่ ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องสอบเพิ่ม”

เท่ากับว่าตำรวจพิมพ์มาหมดแล้ว เอกสารต้องมีหลายร้อยลังเลย ถ้า DSI รับกว่าจะรับ กว่าจะอ่านจบ คำสรุปอย่างเป็นทางการยิ่งไม่เนิ่นนานไปเหรอ จนทำให้กระแสสังคมมองว่ายิ่งดึงเวลาให้ยืดออกไปหรือเปล่า?

วรณัน : “มันก็เป็นข้อที่ตั้งคำถามได้นะครับ แต่อยู่ที่เราอธิบายมากกว่า ผมว่าวันนี้สำคัญอยู่ที่การอธิบายความจริงว่าคืออะไรมากกว่า”

ตำรวจบอกว่าเรื่องพยานไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจับเท็จ ในมุมมองของ DSI ได้ใช้วิธีการแบบนี้เพื่อค้นหาความจริงมั้ย?

วรณัน : “ของเราก็เคยมีใช้ในคดีบางกลุ่มครับ ตัวเขาไม่ได้เป็นพยานวัตถุหรือพยานเอกสาร พยานบุคคลโดยตรง  มันเป็นเพียงตัวที่ใช้ในการช่วยเหลือเท่านั้นเอง มนคงเอามาฟังอยากเดียวไม่ได้”

คิดว่าต้องใช้มั้ยครับ?

วรณัน : “ขอไม่ลงความเห็นจนกว่าเราจะได้เข้าไปเกี่ยวข้องจริงๆ”

DSI มีข้อสงสัยเกี่ยวกับตัววัตถุพยานมั้ย ไม่ว่าจะเป็นแก้วไวน์หรือขวดไวน์ ?

วรณัน : “วันนี้เราฟังให้มากก่อนครับ เรามีหน้าที่ในการไปแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน เราก็ต้องรับฟังพยานหลักฐานที่มีอยู่ให้ครบถ้วนก่อน ก่อนที่เราจะตัดสินใจว่าเราจะเดินยังไงต่อ “

ถ้าถึงวันที่รับเป็นคดีมันจะยังหาได้มั้ย?

วรณัน : “พยานหลักฐานถ้ามันอยู่ในสำนวน มันก็ยังอยู่ในสำนวนนั่นแหละครับ”

ครั้งนี้คุณหญิงหมอพรทิพย์จะได้เข้ามาร่วมงานกับ DSI อีกมั้ย?

วรณัน  : “ผมว่าเรายังไม่คุยเรื่องอนาคตนะครับ เอาข้อเท็จจริงวันนี้ที่ DSI รับเรื่องไว้ทำการสืบสวนเราก็เร่งดำเนินการไม่ว่าจะฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เราได้จากฝั่งพนักงานตร. กำลังประมวลข้อเท็จจริงอยู่ ให้เวลาเราเดิน ให้เวลาเราทำงานนิดนึง”

DSI รับเรื่องมานานแค่ไหนแล้วครับ?

วรณัน : “ประมาณ 2 สัปดาห์”

ได้รับเอกสารจากทางตำรวจหรือยัง?

วรณัน : “ยังครับ พอเรามีการสั่งให้มีการสืบสวนแล้ว พนักงานสืบสวนก็ได้เข้าไปแสวงหาข้อเท็จจริง คำสั่งตั้งวันที่ 25 คือวันศุกร์ วันจันทร์-อังคาร เจ้าหน้าที่ก็เข้าไปดำเนินการแล้ว ว่าคดีนี้สมควรเข้าเกณฑ์เป็นคดีพิเศษหรือเปล่า”

 หลายคนคิดว่า DSI ต้องเหมือน FBI อเมริกาแน่เลย เครื่องไม้เครื่องมือของเรามีอะไรที่เป็นพิเศษหรือเปล่า?

วรณัน : “เครื่องมือเรามีกฎหมายสำคัญอยู่ตัวนึงว่าเราสามารถแสวงหาความร่วมมือจากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐอื่นได้ เราไม่จำเป็นต้องครอบครองสิ่งของนั้นด้วยตัวเอง แต่เราอำนาจในการขอให้เขาช่วยดำเนินการให้ได้ รวมทั้งบางกรณีที่เป็นเครื่องมือเกี่ยวกับด้านไฮเทคก็มีบางส่วนเหมือนกัน ที่เป็นของเราครอบครองเอง”

ทางตำรวจสามารถทำเรื่องขอได้มั้ยครับ?

วรณัน : “ก็อาจทำได้นะครับ แต่ของเรามีกฎหมายที่ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจน ในการแสวงหาหลักฐาน หน่วยงานก็มีอำนาจทั่วไปในการสืบสวน เราก็เช่นกัน เพียงแต่ว่าในกรณีบางประเภท บางลักษณะ กฎหมาย DSI เขาจะเขียนไว้เป็นกรณีพิเศษให้ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการไปตัดอำนาจส่วนราชการอื่น เช่นของธนาคารที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องความลับคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบัญชีต่างๆ เวลาจะขอเราก็ต้องอาศัยใช้อำนาจพิเศษไปขอ เป็นต้น ก็จะมีขอบเขตในภารกิจที่เราใช้เครื่องมือได้หลากหลายกว่า”

หลายคนสงสัย มีข่าวบอกว่ามีผู้มีอิทธิพลรอที่โรงแรมเลยเกิดเหตุการณ์ทำร้ายฆ่าปิดปากใดๆ ถ้าสมมติว่ามีผู้มีอิทธิพลรออยู่จริงๆ ผู้มีอิทธิพลถึงขั้นทำให้ตร. หรือพิสูจน์หลักฐานเปลี่ยนแปลงความรู้สึก เหมือนที่หลายคนรู้สึก อย่าง DSI จะมีผลมั้ย?

วรณัน : “ไม่มีครับ เวลาเรารวบรวมหลักฐานเราไม่ได้เป็นคนตัดสินใจว่าเราจะรับคดีมั้ย เราต้องรวบรวมทั้งหมดเสนอไปที่บอร์ด ถ้าบอร์ดเห็นว่าเรื่องนี้ควรรับเราก็รับมาทำไม่ได้มีปัญหาอะไร”

ถ้าคุณแม่มาร้อง DSI เขาสามารถให้เราหยุดได้มั้ย หรือเขาสามารถร้องตรงไปที่สำนักนายกได้มั้ย?

วรณัน : “การยื่นเรื่องเป็นสิทธิ์ของตัวผู้ร้อง ถ้าเขายื่นเข้ามาเราก็แค่นำมาพิจารณาในสำนวนแค่นั้นเอง ก็เป็นไปได้ที่เขาอาจเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ถ้ายื่นเข้ามามันก็จะเป็นเหตุผลประกอบเรื่องเช่นกัน รับฟังทุกฝ่าย”

กลัวมั้ยว่าถ้าทำคดีไปแล้วแม่มายื่นถอดถอน กลัวมีดราม่าเข้ามามั้ย?

วรณัน : “ผมว่าถ้าเราทำงานตามขั้นตอนก็ไม่ได้มีอะไรที่เราจะอธิบายไม่ได้นะครับ มันเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายกันไปเท่านั้นเอง”

ถ้าการทำคดีพิเศษไม่ถูกใจประชาชน เพราะอย่างวันนี้ล่าสุดหลายคนคิดว่าดีเอสไอรับทำคดีแล้วด้วยนะ เชื่อมั่นดีเอสไอร้อยล้านเปอร์เซ็นต์ ถ้าเหมือนตร. เหมือนคุณหมอพรทิพย์ที่ผ่าพิสูจน์รอบสองว่าไม่มีขวดไวน์ทุบหัว ดีเอสไองานเข้าแบบนี้ เรารับมือยังไง?

วรณัน : “เชื่อในพลังสื่อนะครับ ผมมองว่าสื่อสารมวลชนเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ค้นหาความจริงเหมือนเรา ฉะนั้นเราสื่อสารไป สื่อได้นำเสนอข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงออกไป ผมเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็มีเหตุและผลในการรับฟัง ผมเชื่อว่าจะทำให้สังคมเข้าใจได้”

อย่างคุณหมอพรทิพย์ ทนายเดชา ก็ทัวร์ลงเหมือนกันนะ?

วรณัน : “คือมันเป็นเรื่องที่บางอย่างเราต้องอธิบายมากขึ้นแค่นั้นเอง ต้องใช้เวลาในการอธิบายให้มากขึ้น แต่ผมเชื่อว่าความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว”

ปกติคดีที่เรารับมีผู้เสียหายมาขอร้องให้ถอนบ้างมั้ยครับ?

วรณัน : “ก็มีครับ เป็นเรื่องปกติครับ ต้องเรียนว่าทุกอย่างเป็นสิทธิ์ของท่านโดยกฎหมาย ว่าท่านจะมีสิทธิ์ยื่นขอร้องให้ถอนเป็นเรื่องที่สามารถทำได้เพราะเป็นเจตจำนงของตัวท่านเอง แต่เวลาเรื่องเข้ามาแล้ว เรานำข้อมูลทั้งหมดที่เราได้ นำมาประกอบการพิจารณาว่าเสนอสมควรให้รับหรือไม่รับเพราะเหตุอะไร ไม่ได้ปิดกั้น เราดูตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย”

ถ้าเป็นคดีที่เป็นที่สนใจของประชาชนแบบนี้ ถ้าหลายๆ คดีเขาพยายามทำให้เป็นข่าวแล้วอยากให้ DSI เข้ามาทำคดีแทนตร. เขาสามารถทำได้มั้ย?

วรณัน : “การเป็นข่าวไม่ได้หมายความว่าจะเข้าองค์ประกอบตามกฎหมายที่ผมเรียนสักครู่ เพียงแต่ว่าหนึ่ง มันซับซ้อนมั้ย มันมีเหตุตามที่ข้อกำหนดมั้ย เราก็ไปดูกันตรงนั้น”

ฝั่งแม่ก็อาจรู้สึกว่าตำรวจเขาทำไปแล้ว แล้วเพราะเป็นคดีของดาราหรือเปล่า DSI เลยเข้ามา ไม่ต่างจากทนายความ หรือสื่อต่างๆ ที่รุมทึ้ง หาแสงให้หน่วยงานตัวเอง แบบนี้คนธรรมดาจะรับมั้ย?

วรณัน : “ประเด็นชื่อเสียงหน่วยงาน ผมเชื่อว่าสังคม 18 ปีที่ผ่านมาเขาเห็นตัวตนเราอยู่แล้วว่า DSI ทำงานอยู่ในเรื่องสำคัญขนาดไหน ประเด็นนี้ตัดไปได้เลย ข้อต่อไปคือว่า ในเรื่องของการยื่นเรื่องคนสอบสวน ณ ปัจจุบันประกาศกำหนดการร้องขอไว้แบบนั้น เราก็มีหน้าที่ทำไปตามกฎหมาย”

ทนายเดชา อยู่ในสาย อยากถามว่าถ้า DSI รับเป็นคดี ทางทนายกับคุณแม่จะว่ายังไง เพราะเห็นว่าไม่อยากให้ดีเอสไอเกี่ยวข้อง ไม่อยากให้ยุ่งเลย?

เดชา : “คือผมสนับสนุนนะ วันนี้ผมไปพบท่านเลขาฯ ธนกฤตมาแล้วครับ”

สรุปคุณแม่อยากให้ดีเอสไอทำเหรอ?

เดชา “มันไม่ใช่เป็นเรื่องอยากทำหรือไม่อยาก ตอนนี้กระแสสังคมอยากให้ใครก็ได้ที่สามารถช่วยค้นหาความจริงได้ และคดีความไม่เสียหาย วันนี้ผมเลยเรียนคุณแม่ให้ทราบแล้ว และไปหาเลขาฯ รัฐมนตรี ท่านธนกฤต วันนี้ผมไปกระทรวงยุติธรรม พานักข่าวไปทุกช่องเลย ผมไปคุยกับท่านเลขาฯ ส่วนตัว ตอนนี้ดีเอสไอลงเลขรับสืบสวน แสวงหาข้อเท็จจริง เสริมจากตำรวจ สมมติตร.ทำยังไม่ครบ ดีเอสไอเสริมได้ ก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง คุยกับท่านเลขาฯ และทราบว่าวันนี้ดีเอสไอไปประชุมกับผู้บัญชาการภูธรภาค 1 ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ไม่ได้ดีธรรมดานะ”

เป็นความเห็นแม่ด้วยหรือเปล่า?

เดชา คุณแม่ไม่ต้องปรึกษา เพราะมอบอำนาจให้ผมเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว”

คราวที่แล้วเขามอบอำนาจให้ทนายกฤษณะยังโดนปลดเลย?

เดชา : “ก็ความไว้วางใจมันต่างกัน”

พี่ทำก่อนแม่สั่ง ไม่คิดว่าจะถูกอะไรเหรอ?

เดชา : ไม่ๆ แม่ไว้วางใจผมอยู่แล้ว อะไรที่ทำแล้วเป็นประโยชน์สามารถทำได้เลย”

ตอนแรกพี่บอกว่าไม่สนกระแสโซเชียล อยากพูดก็พูดไป ทำไมวันนี้ถึงมาเปลี่ยนให้ DSI ทำครับ?

เดชา : “คือผมไม่ได้สนใจพวกโซเชียล ยืนยันว่าพวกนี้ยังไร้ราคาเหมือนเดิม ขอพูดซ้ำจะได้รู้ว่าผมไม่ได้เปลี่ยนแปลงนะคุณเพชร ผมทำไม่ได้สนใจกระแสโซเชียลพวกนี้ ยังยืนยันเหมือนเดิม ที่ทำไปเพื่อประโยชน์ของคดี ผมถึงเข้าไปพบท่านเลขาฯ ธนกฤต ผมสนใจแค่ว่าจะทำอย่างไรให้คดีสมบูรณ์แบบ ทำอย่างไรให้ชนะคดี”

คุณแม่ยังรักพี่เดชาอยู่ใช่มั้ย?

เดชา : โห ร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ผมทำทุกอย่างเพื่อให้น้องแตงโมชนะ ได้รับความเป็นธรรมคืนมา”

ถ้า DSI รับทำคดี อยากให้คุณหมอพรทิพย์เข้ามาเกี่ยวข้องอีกมั้ย?

เดชา : “คุณหมอพรทิพย์ถ้าเท่าที่ผมทราบคุณหญิงไม่เข้ามายุ่งแล้วครับ ลึกๆ ข้อมูลที่ผมได้มา และวันนี้ผมได้คุยกับคุณหมอนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมด้วยครับ เขาแจ้งมาแล้วไม่เป็นทางการก็คือเหมือนเดิม สรุปไม่เกินอาทิตย์นี้แน่นอน และน่าจะแถลงข่าววันที่ 31 คุยกับเลขาฯ ท่านรัฐมนตรีแล้ว ผมอาจไปร่วมเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กร แถลงเรื่องการร่วมมือกันระหว่าง DSI อยากแถลงให้สร้างสรรค์ คำถามขยะก็ไม่อยากตอบ ผมไม่แคร์สื่อ”

เห็นทนายตั้มบอกไม่อยากยุ่งแล้วเพราะมีปัญหากับพี่จริงหรือเปล่า?

เดชา : “ไม่จริงครับ ยังรักกันเหมือนเดิม เนี่ย พวกนี้พวกเสี้ยม ไม่มีประโยชน์อะไรเลย”

วันนี้ให้ดีเอสไอทำ พี่เดชาห่วงมั้ย ว่าตร.สรุปไว้ส่วนนึงแล้ว พี่เดชากับคุณแม่ยังคลางแคลงใจถึงให้ดีเอสไอมาทำ มันจะมีปัญหาระหว่างหน่วยงานมั้ย?

เดชา : “อย่าพูดว่าคลางแคลงใจเลยครับ ผมไม่เคยแคลงใจ ผมเคยเป็นผู้บรรยายของกรมสอบสวนคดีพิเศษมาก่อน เพื่อนผมก็มีตำแหน่งอยู่หลายคน ไม่มีอะไรแคลงใจ ดีเอสไอก็คือตร.เก่าหลายคน บางคนเคยเป็นรองผู้กำกับสืบ คอหอยลูกกระเดือกอยู่แล้ว ไม่มีอะไร”

วันนี้พี่เดชายืนยันใช่มั้ยว่าถ้าดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษจะเป็นการต่อยอดแล้วก็ช่วยกันทำให้ความจริงปรากฏ เป็นความต้องการของแม่และพี่เดชา?

เดชา : “เท่าที่ผมทราบ DSI ไม่น่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรอก เพราะคดีจบแล้วภายในอาทิตย์นี้ เท่าที่ผมทราบร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริงเท่านั้นเอง”

จริงๆ แล้วสามารถบอกความคืบหน้าทางคดีได้มั้ยครับ หรือต้องเก็บเป็นความลับ?

วรณัน : “พอดีเรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงในสำนวน ต้องดูว่าการเปิดเผยไปมีผลกระทบอย่างไร ตร.เองก็พยายามสื่อสารอยู่ ดีเอสไอก็อาจมีการนำเสนอในสิ่งที่เราสามารถนำเสนอได้ แต่อย่างที่เรียนวันนี้ขอเวลาให้เราทำงานนิดนึง”