ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพื่อขอเพิ่มค่าแรง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่แล้วเหตุการณ์นี้ก็กลายเป็นโศกนาฎกรรมใหญ่ ที่มีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานในขณะที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ แต่จากเหตุการณ์นี้เองที่เหมือนการจุดเชื้อไฟในหัวใจของผู้หญิงที่ไร้สิทธไร้เสียงมานานให้ปะทุขึ้นอย่างยากที่จะดับ!!
ในปี ค.ศ.1907 กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบ ทั้งกดขี่และทารุณของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดการเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์พวกเธอก็จะถูกไล่ออกทันที
ความอัดอั้นตันใจของสตรีชนชั้นแรงงานเหล่านี้ ทำให้ “คลาร่า เซทกิน” นักการเมืองสตรีชาวเยอรมันตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วยแม้การเรียกร้องครั้งนั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนที่เข้าร่วมประท้วงถูกจับกุม แต่นั่นก็ทำให้สตรีทั่วโลกหันมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ คลาร่า เซทคิน และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น
ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า “ขนมปังกับดอกกุหลาบ” ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง
จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 ความพยายามอันต่อเนื่องและยาวนานของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิภาพสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย
ในครั้งนั้น ที่ประชุมสมัชชายังได้รับรองข้อเสนอของ คลารา ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันสตรีสากล” วันนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงวันที่กลุ่มสตรีทั่วโลกจะร่วมฉลองกันเท่านั้น แต่เป็นวันที่องค์กรสหประชาชาติก็ให้ความสำคัญด้วย อีกหลายประเทศได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันหยุดประจำชาติของตน
กลุ่มสตรีจากทุกทวีปไม่ว่าจะต่างเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม หรือการเมืองก็ตาม ต่างหันมารวมตัวกันเพื่อฉลองวันสำคัญนี้ เพื่อรำลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้อันยาวนานเพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาค ความยุติธรรม สันติภาพ และการพัฒนาศักยภาพสตรีทั่วโลกประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามพันธะสัญญาต่อเวทีโลก ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับบทบาทและสถานภาพสตรีโดยได้มีการดำเนินการทั้งในแง่กฎหมาย นโยบาย มาตรการขจัดความรุนแรง และยกระดับคุณภาพชีวิตสตรีในด้านต่างๆ ตลอดจนผู้ใช้แรงงานให้ได้รับการดูแลในด้านสวัสดิการ สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งผู้หญิงต้องได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติและเท่าเทียมในฐานะที่ผู้หญิงก็เป็นสมาชิกหนึ่งในสังคม
เมืองไทยได้เดินทางมาถึงจุดที่ผู้หญิงเป็นผู้นำในทุกองค์กร ทุกสาขาวิชาชีพ แม้กระทั่งบทบาทสูงสุดในฐานะผู้นำประเทศ เราก็เคยมีมาแล้ว อย่างไรก็ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ก็ไม่อาจปฎิเสธว่า การกดขี่ การละเมิด การลิดรอนสิทธิ การดูหมิ่นเหยียดหยามผู้หญิงในสังคมไทยยังคงมีอยู่จริงในทุกๆ แวดวงเช่นกัน แม้กระทั่งการหมิ่นเหยียดเพศเดียวกันของผู้หญิงด้วยกันเอง….ก็ยังมีให้เห็นในทุกวันนี้ทั้งในชีวิตจริงและบนโลกโซเชี่ยล
บางทีเราอาจต้องตั้งคำถามว่าโลกที่เปลี่ยนไป มีการพัฒนาและก้าวหน้าล้ำสมัยไปทุกวันนี้ ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสในชีวิตมากขึ้นในทุกทาง ทั้งด้านการศึกษา อาชีพการงาน สถานะทางสังคม พวกเธอมีโอกาส “เลือกที่จะเป็น” อย่างที่พวกเธออยากเป็นมากขึ้น
แต่ที่สุดแล้วผู้หญิงเราวันนี้มีความตระหนักในสิทธิของตัวเองจริงหรือ? และพวกเธอยืนหยัดที่จะสนับสนุนผลักดันคนเพศเดียวกันให้ก้าวไปยืนทัดเทียมกับบุรุษมากน้อยแค่ไหน? ผู้หญิงเราเห็นคุณค่าและเคารพในสิทธิและเสียงที่มีอยู่ของตัวเองอย่างแท้จริงแล้วหรือยัง?
ที่มาข้อมูล : วิกิพีเดีย