นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฝุ่นละอองในช่วงวิกฤตว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และเตรียมความพร้อมแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่นละอองในช่วงวิกฤต โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้บริหาร กทม.มีนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เชิงรุกระดับพื้นที่ ตั้งแต่เดือน ต.ค.65 – มี.ค.66 โดยให้ตรวจสอบเพื่อควบคุมการเกิดฝุ่นละออง PM2.5 ที่แหล่งกำเนิดอย่างน้อย 2 ครั้ง/เดือน ได้แก่ สถานที่ก่อสร้าง แพลนท์ปูน บริษัท อู่ ท่าจอดรถขนส่ง สถานประกอบการ และโรงงาน เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่นละอองที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบพื้นที่ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิด อาทิ การเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูก การเผาในพื้นที่ และการเผาหญ้า เป็นต้น
นอกจากนั้น กทม.ได้แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ พร้อมรายงานข้อมูลและให้คำแนะนำประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ www.bangkokairquality.com www.pr-bangkok.com เฟซบุ๊ก : กรุงเทพมหานคร, กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.และสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. และแอปพลิเคชัน : AirBKK รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จอแสดงผลแบบเคลื่อนที่ และจอแสดงผลอัจฉริยะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากพบค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานต่อเนื่องจะเพิ่มความถี่การแจ้งเตือนค่าฝุ่นละออง PM2.5 เป็นวันละ 3 รอบเวลา คือ เวลา 07.00 น. 12.00 น. และ 15.00 น. เพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง และให้ข้อแนะนำการปฏิบัติหากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้ง รวมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง เช่น การตรวจสอบและบำรุงรักษารถยนต์ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ไม่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานกำหนด ลดการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ รณรงค์ไม่ขับช่วยดับเครื่อง ตลอดจนรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และเน้นย้ำข้อควรปฏิบัติและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เพื่อป้องกันผลกระทบทางสุขภาพ และประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร วันจันทร์-ศุกร์ โทร. 02-203-2954 และ 02-203-2951 ระหว่างเวลา 06.00-18.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โทร.085-806-7776 และ 086-364-4407 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัย ออกปฏิบัติการดับเพลิงไหม้หญ้า หรือการเผาชีวมวลต่าง ๆ ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพื่อลดจุดความร้อน ป้องกัน และควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ ประกอบกับในช่วงตั้งแต่เดือน ธ.ค.65 – พ.ค.66 เป็นช่วงเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้นำเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาลงนามในร่างประกาศ กทม.เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟไหม้หญ้าบริเวณพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเขตกรุงเทพฯ พร้อมทั้งได้แจ้งให้ผู้อำนวยการเขตในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 และในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 แจ้งให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองที่ดินและประชาชนทราบและปฏิบัติ ดังนี้ (1) ขอให้ปรับปรุงไม่ให้ต้นไม้ หรือธัญพืชที่ปลูกไว้ หรือที่ขึ้นเองเหี่ยวแห้ง หรือมีสภาพรกรุงรัง หรือทิ้งสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอยในบริเวณที่ดินของตน (2) งดการเผาซากวัชพืชหลังการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร (3) งดการเผาขยะมูลฝอย การเผาหญ้า เศษกระดาษในชุมชนและบริเวณริมถนนสองข้างทาง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากกลุ่มควันจากการเผาไหม้บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ยานพาหนะ (4) จัดทำรั้วกั้นรอบพื้นที่ของตนเอง เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นนำขยะมาทิ้ง และขอให้กำจัดวัชพืชในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้หญ้า รวมทั้งให้ทุกสำนักงานเขตตรวจสอบปรับปรุงข้อมูลพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ และประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ท้องที่ กวดขันจับกุมผู้ที่กระทำการเผาหญ้าและลุกลามสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรืออาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตราอื่น ๆ ซึ่งมีโทษหนักกว่า หากประชาชนพบเหตุไฟไหม้หญ้า กองขยะ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 199 ตลอด 24 ชั่วโมง