“สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างทางด้วยดินลูกรัง จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และสร้างต่อไปถึงโรงเรียนพร้อมพรรณ เมื่อรถวิ่งมีฝุ่นสีแดง ผู้คนจึงเรียกถนนสายนี้ว่า “ถนนดินแดง” และต่อมาปี 2506 ได้มีการก่อสร้างอาคารแฟลตดินแดงขึ้นเป็นแห่งแรก”
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เริ่มต้นบอกเล่าถึงความเป็นมาของ “เคหะชุมชนดินแดง” ที่แต่เดิมเป็นที่ทิ้งขยะมูลฝอยและเป็นบริเวณทุ่งนาอีกส่วนหนึ่งจนเริ่มมีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและกลายเป็นอาคาร สงเคราะห์รุ่นแรกของประเทศไทยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร มีรูปแบบเป็น “อาคารสูง” หรือ “แฟลต” บริเวณแขวงดินแดงเขตดินแดง ขนาดพื้นที่ชุมชนรวม 635 ไร่ ที่ดินเกือบทั้งหมดเป็นที่ราชพัสดุ โดยการเคหะแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่น ๆ เป็นผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน เรียกกันทั่วไปว่า “แฟลตดินแดง”
เวลาผ่านไปหลายสิบปีอาคารกลุ่มนี้มีสภาพทรุดโทรม สภาพแวดล้อมโดยรอบก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ได้ตรวจสอบสภาพความแข็งแรงของอาคารแฟลตดินแดงในปี 2546 พบว่าอาคารทั้งหมดมีสภาพเก่าทรุดโทรม และมีการสอบทานผลการตรวจสอบที่ตรงกันจากสภาวิศวกรและวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ
การเคหะแห่งชาติจึงดำเนินการจัดทำ “แผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง” เพื่อวางผังการใช้ที่ดินต่าง ๆ และมีการปรับปรุงแผนแม่บทเรื่อยมา โดยในปี 2558 มติคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบในหลักการกรอบแผนการลงทุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติปี 2558-2560
แนวทางของรัฐบาลในขณะนั้นได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนโครงการฯ โดยให้ผู้อยู่อาศัยเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการมีส่วนร่วมการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูชุมชนดินแดง พร้อมทั้งจัดชุดสำรวจข้อมูลและมวลชน เพื่อสำรวจข้อมูลและความคิดเห็นของผู้อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 98.17 ของผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง รวมถึงขนาดห้องและค่าเช่าตามที่การเคหะแห่งชาติเสนอ ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่ สศช. ให้ความสำคัญในการปรับปรุงแผนแม่บทฯ นำไปสู่การพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม
ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559-2567) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ. 2559 -2568) เห็นชอบในหลักการกรอบแผนการลงทุนตามแผนแม่บทฯวงเงิน 35,754.25 ล้านบาท พร้อมทั้งเห็นชอบหลักการการจ่ายค่าชดเชยสิทธิในการเช่าและการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าขนย้ายสำหรับผู้อยู่อาศัยเดิมที่เป็นคู่สัญญากับการเคหะแห่งชาติและให้ความเห็นชอบการก่อสร้างอาคารพักอาศัยแปลง G จำนวน 334 หน่วย เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเคหะชุมชนดินแดง 1 อาคารแฟลต 18-22
ปัจจุบัน “การเคหะแห่งชาติ” ได้ดำเนิน “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1” แล้วเสร็จ ด้วยการก่อสร้าง “อาคารพักอาศัยแปลง G” เป็นอาคารแรก พร้อมทั้งได้ย้ายผู้อยู่อาศัยเดิมจากอาคารแฟลตที่ 18-22 เข้าอยู่เรียบร้อยแล้วและในขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างโครการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร A1 และอาคาร D1 จำนวน 1,247 หน่วย
“ก่อนจะมาถึงจุดนี้การเคหะแห่งชาติเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครอบคลุม ถึงแม้ว่าแต่เดิมยังมีผู้อยู่อาศัยบางส่วนและกลุ่มต่อต้านคัดค้านโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง แต่การเคหะแห่งชาติก็ได้ชี้แจงข้อมูลอย่างเปิดเผยเพื่อสร้างความเข้าใจต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อีกทั้งยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาแผนแม่บทโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทั้งด้านกายภาพสิ่งแวดล้อมตลอดจนเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยทุกคน” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าวย้ำ