UNFPA จัดเสวนา “ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน” ร่วมฉลอง “Pride Month”

24

UNFPA ร่วมกับ UNDP และ Thailand Policy Lab จัดนิทรรศการพร้อมเสวนา “ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน” เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง “Pride Month” เดือนแห่งความภาคภูมิใจความหลากหลายทางเพศ

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และ Thailand Policy Lab จัดนิทรรศการและเสวนาหัวข้อ “ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน” พร้อมเชิญชวนร่วมเฉลิมฉลองความหลากหลายและการโอบกอดความแตกต่างในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ “Pride Month” ณ สยามเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ

นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อขยายโครงการเกี่ยวกับนโยบายประชากร สอดคล้องกับเทศกาล Pride ด้วยความตั้งใจที่จะรับฟัง ให้เกียรติ และรับรู้ถึงประสบการณ์ชีวิต การต่อสู้ และความคาดหวังของชาว LGBTQIA+ รวมถึงครอบครัวสมัยใหม่ในรูปแบบอื่นๆ ในประเทศไทย เป็นโอกาสในการขยายเสียงของความหลากหลายให้กว้างไกลออกไป ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการเดินทางที่ไม่เหมือนใครของชาว LGBTQIA+ ตลอดจนส่งเสริมสภาพแวดล้อมของการยอมรับและการสนับสนุนพวกเขาเหล่านั้น โดยการเสวนา “ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน” มีขึ้นในวันที่ 3 มิถุนายน 2566 และ นิทรรศการ “ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน” จัดขึ้นระหว่าง26-30 มิถุนายน 2566 ณ สยามเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ

“กิจกรรมนี้เป็นการแสดงจุดยืนในการส่งเสริมสิทธิของคนทุกเพศในการสร้างครอบครัว รวมถึงสำรวจและทำความเข้าใจรูปแบบครอบครัวสมัยใหม่และรูปแบบครอบครัวทางเลือก ส่งเสริมการยอมรับ และการสนับสนุนบุคคลและครอบครัวที่ไม่ได้มีรูปแบบโครงสร้างดั้งเดิม อีกทั้งยังเป็นการรวบรวมข้อมูลและข้อค้นพบเชิงลึกเกี่ยวกับการรับรู้ ความกังวล และความคาดหวังของสาธารณชนต่อการสร้างครอบครัว และยังเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตระหนักรู้และการเคารพต่อวิถีอันหลากหลายในการสร้างครอบครัวและการทำหน้าที่ของครอบครัวอีกด้วย

ครอบครัวที่หลากหลายในปัจจุบันส่งผลต่อโครงสร้างประชากรไทยในภาพรวม ซึ่งได้ก้าวสู่การเป็นสังคมสูงวัยแล้ว ทั้งนี้ UNFPA เน้นให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิและทางเลือก ตลอดจนความเสมอภาคทางเพศของเพื่อนมนุษย์ทุกคน ในการเลือกที่จะเป็น และเลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบเหมาะสมของแต่ละคน ในมุมจำนวนประชากร เราไม่เน้นเพิ่มในเชิงปริมาณแต่ขอส่งเสริมให้เพิ่มคุณภาพให้ประชากรทุกท่าน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่ม ทั้งด้านการศึกษาและพัฒนาอาชีพ เพื่อให้ดูแลตัวเองได้ดีทั้งทางเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม และครอบครัว และเป็นประชากรที่มีคุณภาพในที่สุด” หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย กล่าว

ทั้งนี้ การเสวนา “ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน” ที่จัดขึ้นในวันที่ 3 มิถุนายน 2566 ซึ่งกระตุ้นการเปิดใจ ส่งเสริมความเข้าใจ และสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจของสาธารณชนต่อสิ่งที่ประกอบสร้างเป็นครอบครัวซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย ได้มีการร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย จากผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ “เรอโน เมแยร์” ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย “สิริลักษณ์ เชียงว่อง” หัวหน้าสำนักงาน หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย “มัจฉา พรอินทร์” ตัวแทนผู้ปกครองครอบครัวทางเลือก “สายสุนีย์ จ๊ะนะ (แวว)” นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบทีมชาติไทย ตัวแทนครอบครัวคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว “ดร.พงศ์สิริ เตชะวิบูลย์” ตัวแทนครอบครัวคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว “ภาวิดา มอริจจิ (ซิลวี่)” นักร้อง Warner Music Thailand และ Spotify’s EQUAL Thailand Ambassador ดำเนินการเสวนาโดย “กานท์กลอน รักธรรม” และ “ณภัทร พุ่มศิริ” จาก Thailand Policy Lab

“มัจฉา พรอินทร์” ตัวแทนผู้ปกครองครอบครัวทางเลือก กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสนับสนุนครอบครัวที่มีรูปแบบหลากหลายในสังคมไทย คือการสร้างการยอมรับและความเข้าใจจากสังคม โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมไทยที่ต้องทำให้เร็วที่สุด เพราะเป็นการแก้ปัญหาอย่างเข้าใจและยอมรับ สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงในการสร้างความเท่าเทียมให้แก่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและสังคม

“สายสุนีย์ จ๊ะนะ (แวว)” นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบทีมชาติไทย ตัวแทนครอบครัวคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว กล่าวว่า คนพิการก็มีสิทธิและความต้องการมีครอบครัวเป็นของตัวเอง ถึงแม้จะมีความท้าทายและอุปสรรคมากกว่าคนทั่วไป ที่ผ่านมาในอดีตยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐและระบบสาธารณสุขที่เพียงพอในการมีครอบครัวเป็นของตัวเอง

ด้าน “ดร.พงศ์สิริ เตชะวิบูลย์” ตัวแทนครอบครัวคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว กล่าวว่า จากประสบการณ์การเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ได้รับการรับรองบุตรจากต่างประเทศ นับว่ามีความโชคดีที่ได้ยื่นเรื่องไปที่ศาลในการเป็นผู้ปกครองคนเดียว ทำให้การรับรองจากศาลและการดำเนินเรื่องเอกสารต่างๆ เป็นไปด้วยความสะดวก เรื่องการระบุเป็นผู้ปกครองก็ไม่ต้องระบุเพศว่าเป็นพ่อหรือแม่ แต่เป็น Parent 1 หรือ Parent 2 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงนโยบายและกฎหมายที่รับรองและเข้าใจถึงความหลากหลายของครอบครัว

ขณะที่ “ภาวิดา มอริจจิ (ซิลวี่)” นักร้อง Warner Music Thailand และ Spotify’s EQUAL Thailand Ambassador กล่าวว่า การปรับตัวระหว่างตัวซิลวี่และคุณแม่ผ่านมาได้ด้วยกระบวนการพูดคุย รับฟัง ปรับตัว และเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะพื้นที่ปลอดภัยและการให้เวลาซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก