สำนักงานการส่งเสริมอาชีพ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร จัดงาน “ Showcase สินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพมหานคร โครงการพัฒนาสินค้าและบริการ Made in Bangkok ” โชว์ 100 สินค้าและบริการ สะท้อนอัตลักษณ์จาก 50 เขต มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนฐานราก สอดรับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขึ้นแท่นของดีกรุงเทพ อวดสายตาชาวโลก เชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าชมงาน 28-30 มิถุนายนนี้ ณ พาราไดซ์ พาร์ค โดยมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “นายศานนท์ หวังสร้างบุญ” เป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้ประกอบการและชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรม ด้วยมรดกทางภูมิปัญญาประกอบกับความร่วมสมัย สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทย โดยมีสินค้าและบริการที่น่าสนใจกระจายตัวอยู่ในชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ 50 เขต มีศักยภาพพร้อมต่อยอดออกสู่ตลาดในวงกว้าง เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เสริมความแข็งแกร่งจากชุมชนฐานราก นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน
โครงการพัฒนาสินค้าและบริการ กรุงเทพมหานคร Made in Bangkok เป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) ในด้านมหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้ และเมืองแห่งโอกาสทางธุรกิจ และการลงทุน เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพผลผลิตและบริการ รวมทั้งการยกระดับผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร ต่อยอดความเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการเรียนรู้
“สินค้าและบริการ Made in Bangkok จะทำหน้าที่สื่อสารถึงอัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว ในฐานะที่กรุงเทพมหานคร เป็นเป้าหมายอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จึงถือเป็นโอกาสที่ดี ที่วันนี้ทุกคนจะได้ชื่นชม อัตลักษณ์แห่งกรุงเทพมหานคร ผ่านสินค้าและบริการถึง 100 รายการ จาก 50 เขต ที่มารวมตัวกันในงานนี้ ” นายศานนท์ กล่าว
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคมกรุงเทพมหานครกล่าวว่าสำนักพัฒนาสังคมกรุงเทพมหานครดำเนินงานในการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานด้านพัฒนาชุมชนในทุกมิติทั้งด้านกายภาพสิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจและสังคมมุ่งเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ทุนชุมชนทุนสังคมตลอดจนพัฒนาการรวมตัวรวมกลุ่มต่างๆในชุมชนเพื่อให้เกิดการต่อยอดการพัฒนาในทุกด้าน
โครงการพัฒนาสินค้าและบริการ กรุงเทพมหานคร Made in Bangkok ดำเนินการตามนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของสินค้าและบริการในชุมชนต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ให้เป็นที่สนใจ และได้เกิดการตอบรับจากตลาดในวงกว้าง สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชุมชน โดยมุ่งเน้นการรักษาคุณภาพและมาตรฐานที่ต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีของกรุงเทพมหานคร และการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนได้อย่างยั่งยืน
ภายในโครงการพัฒนาสินค้าและบริการ กรุงเทพมหานคร Made in Bangkok สำนักงานส่งเสริมอาชีพ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ได้จัดทีมงานพร้อมผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมและศักยภาพของสินค้าและบริการในชุมชน ต่างๆ ทั่วทั้งกรุงเทพฯ เพื่อนำมาพัฒนาและต่อยอดเป็นสินค้าสร้างสรรค์ ปัจจุบันมีสินค้าสร้างสรรค์รวมทั้งบริการภายใต้ตราสัญลักษณ์ Made in Bangkok จำนวน 100 รายการ จาก 50 เขต
สำหรับงาน Made in Bangkok: สินค้าสร้างสรรค์ กรุงเทพมหานคร จัดแสดงสินค้าและบริการจาก
ชุมชนต่าง ๆ ใน 50 เขต รวมจำนวน 100 ชิ้น โดยแต่ละชิ้น สามารถสะท้อนถึงเอกลักษณ์ในแง่มุมต่าง ๆ ของ
กรุงเทพมหานครได้อย่างสร้างสรรค์ ผ่านการร่วมคิดร่วมพัฒนาร่วมกับสมาชิกชุมชน มีความทันสมัย ใช้งานได้จริง สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ สามารถจาะตลาดได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ประกอบด้วย 5 ประเภทสินค้าและบริการ คือ 1.อาหารและเครื่องดื่ม 2. เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย 3.ของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก 4. สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร และ 5.บริการต่าง ๆ อาทิ ผ้าไหมบ้านครัว, หัตถกรรมไม้สัก, เครื่องประดับ / อัญมณีนิลวัณโณ, เรือกระแชงจำลอง,เรือไทยราชเทวี,BRONZECRAFT เครื่องทองลงหิน,PANIDAR เครื่องลยาราชาวดี,นาคราชปุระ ศิลปะหัตกรรมงานปั้นพญานาคสำหรับเช่าบูชา,เพลาไท นาฬิกาไม้ และ รูปปั้นช้างไทยทรงเครื่อง เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดว่า การจัดงานในครั้งนี้ จะขยายการรับรู้สินค้าและบริการในโครงการ Made in Bangkok ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชนต่าง ๆ สร้างการเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวในพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจ เข้าชมงาน“ Showcase สินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพมหานคร โครงการพัฒนาสินค้าและบริการ Made in Bangkok ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายน 2567 เวลา 10.30 – 20.30 น. ชั้น 1 ลานรอยัล พาร์ค พลาซ่า และลานไลฟ์สไตล์ สเปซ ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: MIB – Made in Bangkok